ผู้เขียน หัวข้อ: โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)  (อ่าน 8 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 898
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
« เมื่อ: วันที่ 18 พฤศจิกายน 2024, 17:37:51 น. »
โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)

มะเร็งผิวหนัง เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง พบได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว และพบมากขึ้นตามอายุ มักพบบ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ พบมากเป็นอันดับที่ 8 ของมะเร็งในผู้ชาย และอันดับที่ 9 ของมะเร็งในผู้หญิง

ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งชนิดอ่อน ลุกลามช้า ไม่แพร่กระจาย ได้แก่ มะเร็งเซลล์หนังกำพร้าชั้นตื้น (squamous cell carcinoma ซึ่งพบได้น้อยกว่าชนิดอื่น) และมะเร็งเซลล์หนังกำพร้าชั้นฐาน (basal cell carcinoma)

ส่วนน้อยเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง ได้แก่ มะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสี (melanoma/malignant melanoma) ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปทั่วร่างกายได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 1 ปี

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสแสงแดด (แสงอัลตราไวโอเลต) มากเกินเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การสัมผัสสารก่อมะเร็ง (เช่น สารหนู น้ำมันดิน พารัฟฟิน เรเดียม เป็นต้น) การถูกรังสีเอกซเรย์ในปริมาณสูง การกินสารหนูที่ผสมอยู่ในยาจีน ยาไทย การอักเสบหรือการบาดเจ็บของผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบ (eczema) การสัก แผลเป็นจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก การสูบบุหรี่ การมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่น เอดส์) การมีประวัติมะเร็งผิวหนังในครอบครัว

อาการ

มะเร็งหนังกำพร้าชั้นตื้น มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงลักษณะหยุ่น ๆ อาจแตกเป็นแผล เลือดออกง่าย หรือมีลักษณะเป็นปื้นแบนราบ ผิวเป็นขุยหรือตกสะเก็ด มักพบที่ใบหน้า ริมฝีปาก หู คอ มือ หรือแขน

มะเร็งหนังกำพร้าชั้นฐาน มีลักษณะเป็นตุ่มนูนใส ขอบม้วน สีคล้ายขี้ผึ้งหรือไข่มุก อาจแตกเป็นแผล มีเลือดออกง่าย มักพบที่ใบหน้า หู คอ บางรายอาจมีอาการเป็นปื้นแบนราบแข็งติดกับผิวหนัง สีเดียวกับสีผิวหรือสีน้ำตาล มักพบที่หน้าอกหรือหลัง

มะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสี มีลักษณะเป็นไฝ ขี้แมลงวัน หรือจุดดำบนผิวหนังที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น มีสีคล้ำมากขึ้น หรือบางจุดในเม็ดไฝมีสีแตกต่างจากจุดอื่น มีอาการปวดหรือคัน หรือลอกมีเกล็ดขุย มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหล มีขนาดโตขึ้น (มากกว่า 6 มม.) มีการกระจายของเม็ดสีไปรอบ ๆ เม็ดไฝ ไฝกลายเป็นแผลหรือมีเลือดออก หรือกลายเป็นก้อนแข็ง ผิวหยาบ

ภาวะแทรกซ้อน

สำหรับมะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสี หากปล่อยไว้มักแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ที่พบได้บ่อยคือ ปอด ตับ สมอง ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน อาทิ

    ปอด ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ภาวะมีน้ำหรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอด หายใจลำบาก
    ตับ ทำให้เจ็บใต้ชายโครงขวา อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลืองตาเหลือง มีน้ำในท้อง (ท้องมาน)
    สมอง ทำให้ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชาและเป็นอัมพาต ชัก หมดสติ สมองเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตัดเนื้อเยื่อผิวหนังตรงบริเวณที่เป็นรอยโรคไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (skin biopsy)


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดรอยโรคออกไป

ในรายที่พบระยะแรกและมีขนาดเล็ก อาจจี้ด้วยความเย็น (cryosurgery)

ถ้าเป็นส่วนผิวอาจใช้แสงเลเซอร์รักษา

ถ้าเป็นที่ติ่งหู หนังตา หรือปลายจมูกอาจใช้รังสีบำบัด (ฉายรังสี)

ถ้าแผลลึกอาจต้องทำการปลูกถ่ายผิวหนัง

ในรายที่เป็นมะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสี หากมีการแพร่กระจายไปแล้ว ก็จะให้รังสีบำบัดร่วมกับการให้ยารักษามะเร็ง เช่น การให้ยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy), อิมมูนบำบัด (immunotheraphy, เคมีบำบัด) เพื่อชะลอการเจริญของมะเร็ง บรรเทาอาการของโรค และทำให้อยู่รอดนานขึ้น

ผลการรักษา หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม มักจะได้ผลดี และหายขาดได้

บางรายในเวลาต่อมาอาจมีมะเร็งกำเริบได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสี แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเช็กอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีแผลเรื้อรังที่ผิวหนังนานเกิน 2-3 สัปดาห์ ผิวหนังเป็นปื้นแบนราบ ผิวเป็นขุยหรือตกสะเก็ด หรือเป็นปื้นแบนราบแข็งติดกับผิวหนัง สีเดียวกับสีผิวหรือสีน้ำตาล เป็นตุ่มนูนใส ขอบม้วน สีคล้ายขี้ผึ้งหรือไข่มุก หรือมีหูด ไฝ ปาน หรือแผลเป็น ที่มีการเปลี่ยนแปลง (เช่น สีเปลี่ยน โตเร็ว แตกเป็นแผล มีเลือดออก เป็นต้น) ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก  กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

    หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด เวลาออกไปกลางแจ้งควรทายากันแดด สวมหมวก และแว่นตากันแสงอัลตราไวโอเลต
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อมะเร็ง และการกินยาจีน ยาไทยที่ผสมสารหนู
    ไม่สูบบุหรี่

ข้อแนะนำ

1. หมั่นตรวจดูผิวหนังทั่วร่างกายเป็นระยะ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงผิดสังเกต เช่น หูด ไฝ ขี้แมลงวัน ปาน แผลเป็น ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

2. สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทำงานอยู่กลางแดด มีประวัติมะเร็งผิวหนังในครอบครัว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละครั้ง

3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี