ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome)  (อ่าน 71 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 899
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome)
« เมื่อ: วันที่ 8 สิงหาคม 2024, 15:21:49 น. »
หมอออนไลน์: กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome)

กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (กลุ่มอาการกีแยง-บาร์เร ก็เรียก) เป็นโรคที่มีภาวะผิดปกติของประสาทส่วนปลาย (peripheral nerves) หลายเส้นทั่วร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพาตแบบเฉียบพลัน ซึ่งมักพบหลังเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจหรือทางเดินอาหาร โดยไม่ทราบสาเหตุ 

โรคนี้นับว่าเป็นภาวะรุนแรง และอาจมีภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายได้

พบได้ปีละประมาณ 1.2-3 คน ต่อประชากร 100,000 คน พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบบ่อยในกลุ่มอายุ 15-35 ปี และ 50-75 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า

สาเหตุ

เกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune reaction) ต่อปลอกหุ้มเส้นประสาท (myelin sheath) ส่วนปลายหลายเส้นทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่แขนขาและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

ประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยมักเกิดหลังการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสนับเป็นสัปดาห์ ที่พบบ่อยคือหลังเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ รองลงมาคือ หลังเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร 

เชื้อต้นเหตุที่พบบ่อย เช่น แคมไพโรแบกเตอร์เจจูนิ (Campylobacter jejuni)*, ไวรัสไซโตเมกาโล (cytomegalovirus), ไวรัสเอปสไตน์บาร์/อีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV), ไวรัสไข้หวัดใหญ่, ไวรัสตับอักเสบ, ไวรัสโควิด19, ไวรัสชิคุนกุนยา, ไวรัสซิกา, เอชไอวี, เชื้อไมโคพลาสมานิวโมเนีย (Mycoplasma pneumonia)** เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการพบผู้ป่วยโรคนี้หลังได้รับวัคซีนบางชนิด (วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า) หรือหลังได้รับการผ่าตัดบางอย่าง


*เชื้อชนิดนี้เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องเดินจาก โรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อโรค เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อชนิดนี้จากการกินอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ 
**เชื้อชนิดนี้เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุของ โรคปอดอักเสบ

อาการ

อาการมักเกิดหลังเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ) หรือทางเดินอาหาร (ท้องเดิน อาหารเป็นพิษ) ประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยมีอาการชาที่ปลายนิ้วมือหรือนิ้วเท้า และกล้ามเนื้ออ่อนแรงของแขนหรือขา

ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการที่ปลายเท้าและขา ทำให้เดินเซ หรือเดินไม่ได้ ขึ้นบันไดไม่ได้ บางรายอาจเริ่มมีอาการที่ใบหน้าหรือแขนก่อน แล้วต่อมา (นับเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ) ก็จะลุกลามไปที่ร่างกาย แขนขา และกล้ามเนื้อแทบทุกส่วน ซึ่งอาจกลายเป็นอัมพาตรุนแรงทั่วร่างกายได้

ผู้ป่วยอาจมีอาการกล้ามเนื้อตาและใบหน้าอ่อนแรง มีอาการกลอกตาไม่ได้ มองเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ เคี้ยวและกลืนลำบากร่วมด้วย 

บางรายอาจมีอาการปวดมากตามร่างกาย (เช่น บริเวณไหปลาร้า สะบัก หลัง ก้น ต้นขา) จะปวดมากเวลาเคลื่อนไหวร่างกาย และอาการอาจเป็นมากขึ้นตอนกลางคืน

บางรายอาจมีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้มีอาการชีพจรเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หรือความดันตกในท่ายืน (ลุกขึ้นยืนจะมีอาการหน้ามืด เป็นลม) กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น

หากเป็นรุนแรง อาจทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต หยุดหายใจ หรือหัวใจวาย เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

โรคนี้มักมีอาการเปลี่ยนแปลงเร็ว อาการมักทรุดหนักได้ภายในไม่กี่วันหลังเริ่มมีอาการ และมักเป็นอยู่นานประมาณ 2-4 สัปดาห์


ภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่เป็นรุนแรง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะหายใจลำบาก (เนื่องจากกล้ามเนื้อควบคุมการหายใจเป็นอัมพาต) ภาวะหัวใจวาย โรคติดเชื้อ (ปอดอักเสบ ภาวะโลหิตเป็นพิษ) เป็นต้น

ในรายที่เป็นอัมพาต นอนติดเตียงนาน ๆ นอกจากทำให้เป็นแผลกดทับแล้ว ยังอาจเกิด ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด ทำให้เกิดภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอดแทรกซ้อนเป็นอันตรายได้               

บางรายอาจกลายเป็นอัมพาตหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงเรื้อรัง หรือมีอาการชาหรือเสียวของแขนขาเรื้อรัง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมักตรวจพบอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต เดินไม่ได้ พูดอ้อแอ้ เคี้ยวลำบาก กลืนลำบาก กลอกตาไม่ได้

เมื่อใช้ค้อนยางเคาะดูรีเฟลกซ์ของข้อเข่าและข้อเท้าพบว่าลดลงหรือไม่มีเลย

อาจตรวจพบชีพจรเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ ความดันโลหิตสูง หรือพบภาวะความดันตกในท่ายืน

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด ด้วยการตรวจพิเศษ เช่น การเจาะหลัง (lumbar puncture) การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (electromyography/EMG) การตรวจการชักนำประสาท (nerve conduction study) การตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย แม้บางรายในช่วงแรกอาการจะดูเหมือนไม่หนัก แต่เนื่องจากโรคนี้อาจมีอาการรุนแรงขึ้นในเวลาต่อมาไม่นานได้ จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด 

แพทย์จะให้การรักษาตามอาการและแก้ไขภาวะแทรกซ้อน เช่น ให้ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อ (เช่น ปอดอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ) สารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant สำหรับผู้ที่นอนติดเตียง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด) การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น

ในรายที่กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต หายใจลำบาก แพทย์จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 

บางราย อาจต้องทำการถ่ายพลาสมา (plasmapheresis) หรือฉีดอิมมูนโกลบูลินเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อกำจัดสารภูมิต้านทานที่เป็นตัวก่อโรค

ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย การได้รับการรักษาเร็วหรือช้า

ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการทรุดลงเร็ว ผู้ที่ได้รับการรักษาช้า และผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนาน มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงหรือเสียชีวิตสูง   

ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงเป็นปกตินาน 6-12 เดือน บางรายอาจนานเป็นแรมปี

บางรายอาการอาจไม่หายขาด และมีความพิการอย่างถาวร

บางรายหลังจากอาการทุเลาดีนานเป็นแรมเดือนแรมปีแล้ว อาจมีอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงกำเริบซ้ำในเวลาต่อมาได้

สำหรับเด็กและคนอายุน้อย มักจะฟื้นตัวได้ดีกว่าคนอายุมาก


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการชาที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า แขนหรือขาอ่อนแรง เดินลำบาก พูด เคี้ยวหรือกลืนลำบาก ซึ่งเกิดขึ้นเฉียบพลัน ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    สงสัยอาการกำเริบหรือมีภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น มีอาการไข้ ชาตามนิ้วมือหรือนิ้วเท้า แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้


ข้อแนะนำ

1. หลังจากหายจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ) หรือทางเดินอาหาร (เช่น ท้องเดิน อาหารเป็นพิษ) หากมีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ เช่น มีอาการชาที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า แขนหรือขาอ่อนแรง ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากแม้ระยะแรกอาการดูไม่รุนแรง แต่อาการจะทรุดหนักตามมาจนเป็นอัมพาตทั้งตัวได้ภายในไม่กี่วัน และเป็นอันตรายร้ายแรงได้

2. การไปปรึกษาแพทย์และได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่น ๆ มีส่วนช่วยให้การรักษาได้ผลดี และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้

3. ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจต้องอยู่รักษาที่โรงพยาบาลนาน และเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วใช้เวลานานเป็นแรมเดือนแรมปีในการฟื้นฟูร่างกายให้หายเป็นปกติ ผู้ป่วยควรเรียนรู้ให้เข้าใจธรรมชาติของโรคและวิธีดูแลรักษา ควรปฏิบัติตัวและติดตามรักษากับแพทย์และทีมงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง