ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: บรูเซลโลซิส (Brucellosis)  (อ่าน 236 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 898
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: บรูเซลโลซิส (Brucellosis)
« เมื่อ: วันที่ 4 สิงหาคม 2024, 16:55:13 น. »
หมอประจำบ้าน: บรูเซลโลซิส (Brucellosis)

บรูเซลโลซิส (brucellosis/undulant fever/Mediterranean fever)* เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดในสัตว์เลี้ยง (เช่น โค กระบือ แพะ แกะ อูฐ หมู) สุนัข สัตว์แทะ สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (วาฬ โลมา) สัตว์ป่า (กระบือป่า กระต่ายป่า สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า) ซึ่งสามารถติดต่อมาสู่คนได้

โรคนี้พบได้ประปราย ซึ่งมักพบในกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง (เช่น คนงานในโรงเลี้ยงสัตว์หรือโรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ สัตวบาล) หรือบริโภคเนื้อสัตว์และนมที่ติดเชื้อ

ในบ้านเรามีผู้รายงานผู้ป่วยโรคนี้จากการดื่มนมแพะ และการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง (โดยเฉพาะฟาร์มเลี้ยงแพะ) ในจังหวัดราชบุรี (ปี พ.ศ.2546) สตูล (ปี พ.ศ.2546-2547) และกาญจนบุรี (ปี พ.ศ.2548 และ 2549)

* โรคนี้มีความร้ายแรง มีการนำเชื้อบลูเซลลาไปผลิตเป็นอาวุธชีวภาพ เช่นเดียวกับแอนแทรกซ์

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บรูเซลลา (Brucella) ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ย่อย คนเราสามารถติดโรคจากสัตว์ได้หลายทาง ได้แก่

    สัมผัสสิ่งปนเปื้อน น้ำนม เลือด รก น้ำเมือกในอวัยวะเพศของสัตว์เพศเมีย น้ำเมือกตามตัวลูกสัตว์ที่คลอดออกมาใหม่ ๆ มูลหรือปัสสาวะสัตว์ เชื้อโรคจะเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอก
    กินเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ หรือนมสัตว์ (รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ไอศกรีม เนยแข็ง) ที่ติดเชื้อ โดยไม่ได้ปรุงให้สุก หรือผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ
    หายใจสูดเอาฝุ่นหรือละอองของสิ่งคัดหลั่ง น้ำนมที่ปนเปื้อนเชื้อโรคในขณะรีดนมในคอกสัตว์
    ถูกเข็มฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่สัตว์ทิ่มแทง

ระยะฟักตัว ระบุได้ไม่ค่อยแน่นอน อาจเป็นตั้งแต่ 1 สัปดาห์ จนถึงนานกว่า 2 เดือน (ทั่วไปประมาณ 1-2 เดือน)

อาการ

มักมีอาการค่อยเป็นค่อยไปแบบเรื้อรังมากกว่าเฉียบพลัน อาการที่พบบ่อย คือ มีไข้สูง ๆ ต่ำ ๆ แบบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ไม่แน่นอน (อาจมีไข้ 1-3 สัปดาห์ สลับกับไม่มีไข้ 1-3 วัน) ร่วมกับอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกายทั่วไป มึนซึม หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ไอ เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด

ระยะการเจ็บป่วยอาจนานหลายวันหลายเดือน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนานเป็นปี หรือนานกว่า

ในรายที่ติดเชื้อทางอาหารการกิน อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูก ปวดหลัง ปวดข้อ

บางรายอาจติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการชัดเจนก็ได้


ภาวะแทรกซ้อน

เชื้อบรูเซลลาสามารถเข้ากระแสเลือด แพร่กระจายไปยังอวัยวะแทบทุกส่วน ก่อให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ ขึ้น

ที่พบบ่อย คือ การอักเสบของกระดูกและข้อ อาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ข้ออักเสบ (ซึ่งมีลักษณะปวดและบวม ที่บริเวณข้อเข่า สะโพก ข้อเท้า ข้อมือ เพียง 1 ข้อ หรือพร้อมกันหลายข้อ) การอักเสบที่กระดูกบริเวณเชิงกราน (sacroileitis) และข้อสันหลังอักเสบ (spondylitis)

ภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น อัณฑะและท่อนำเชื้ออักเสบ (epididymo-orchitis) สมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปลายประสาทเสื่อม (peripheral neuropathy) ตับอักเสบ ฝีตับ ถุงน้ำดีอักเสบ ปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pleural effusion) เยื่อตาอักเสบ ม่านตาอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) ผื่นที่ผิวหนัง (erythema nodosum) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง และเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ ได้แก่ เยี่อบุหัวใจอักเสบ (endocarditis) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย มักเกิดกับลิ้นหัวใจเอออร์ติก (aortic valve) และต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจอย่างเร่งด่วน


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ส่วนใหญ่จะพบมีไข้ ตับโต ม้ามโต บางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้อแข็งตึง ต่อมน้ำเหลืองโต ข้ออักเสบ (ข้อบวมและปวด) อัณฑะอักเสบ

ถ้าป่วยนานกว่า 3-6 เดือน จะพบอาการซูบผอมจากการขาดอาหาร

ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจมีเพียงอาการไข้ต่ำ ๆ หรือมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคทางจิตประสาท

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการทดสอบทางน้ำเหลือง (agglutination test, ELISA) การตรวจด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR) การเพาะเชื้อจากเลือด ไขกระดูก น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pleural fluid) หรือน้ำในข้อ (synovial fluid) การตรวจเลือดมักพบเม็ดเลือดขาวต่ำ (โดยมีสัดส่วนของลิมโฟไซต์สูง) เกล็ดเลือดต่ำ เอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูงเล็กน้อย บางรายอาจต้องตรวจชิ้นเนื้อตับ (liver biopsy) เอกซเรย์ปอดและกระดูกสันหลัง

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

การรักษา ที่สำคัญคือให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 2 ชนิดร่วมกัน เช่น ดอกซีไซคลีน ร่วมกับไรแฟมพิซิน นาน 6 สัปดาห์ ในเด็กและหญิงตั้งครรภ์ให้โคไตรม็อกซาโซลร่วมกับไรแฟมพิซิน หรืออะมิโนโกลโคไซด์ (เช่น เจนตาไมซิน)

ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาลให้ยาปฏิชีวนะร่วมกัน 3-4 ชนิด และให้นานกว่า 6 สัปดาห์

ในรายที่เป็นฝีตับ อาจต้องทำการระบายหนองออก

ในรายที่มีภาวะผิดปกติของลิ้นหัวใจอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

ผลการรักษา นับว่าได้ผลดี อาการไข้และอาการอื่น ๆ มักจะทุเลาหลังกินยาได้ 4-14 วัน แต่ถ้ากินยาไม่สม่ำเสมอ หรือหยุดยาก่อนกำหนดเวลา ก็อาจมีอาการกำเริบซ้ำได้อีกประมาณร้อยละ 30 โดยทั่วไปแพทย์จะติดตามผลการรักษาเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี

ในรายที่มีเยื่อบุหัวใจอักเสบร่วมด้วยมักมีอัตราตายค่อนข้างสูง

ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา มีอัตราตายโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้เรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ นานเป็นสัปดาห์ ๆ ร่วมกับน้ำหนักลด ข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบ หรือมีไข้ร่วมกับอาการหนาวสั่น หรือมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน (หลังกินเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์หรือนมสัตว์ที่ไม่ได้ทำให้สุกหรือทำให้ปลอดเชื้อ) ซึ่งพบในผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคนหรือสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคบรูเซลโลซิส ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    กินยาปฏิชีวนะให้ครบตามระยะที่แพทย์กำหนด (อาจนานถึง 6 สัปดาห์) ถึงแม้อาการดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 4-14 วัน หรือหลังจากทุเลาแล้วกลับมีไข้กำเริบใหม่
    มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ซึมมาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว เพ้อคลั่ง หรือชัก
    หายใจหอบ หรือเจ็บหน้าอกมาก
    ข้ออักเสบ หรืออัณฑะอักเสบ
    มีอาการปวดตา ตามัว ตาแดง
    มีไข้ร่วมกับปวดท้อง ตาเหลืองตัวเหลือง
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบรูเซลโลซิสในสัตว์เลี้ยง (โค กระบือ แพะ แกะ หมู)

2. ถ้าสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคนี้ เช่น สัตว์ในคอกมีไข้ ซึม เต้านมอักเสบ ข้อขาอักเสบ เยื่อหุ้มข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบ ขาหลังเป็นอัมพาต สัตว์แท้งลูกบ่อย ๆ (โรคนี้มีชื่อเรียกว่า โรคแท้งติดต่อในสัตว์) เป็นหมัน ให้น้ำนมน้อยลง เป็นฝีตามที่ต่าง ๆ ลูกที่คลอดออกมาไม่แข็งแรง เป็นต้น ก็ควรปรึกษาสัตวแพทย์ ถ้าเป็นโรคนี้ก็ควรกำจัดทิ้ง

กรณีสัตว์แท้งลูก ควรเก็บลูกสัตว์ที่แท้งและรกส่งตรวจหาสาเหตุของโรค

3. หมั่นตรวจสอบการติดเชื้อในฝูงสัตว์เลี้ยงด้วยการตรวจเลือดและน้ำนม ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ ควรทำการคัดแยกและทำลาย

4. ผู้ที่ทำงานในฟาร์ม (โดยเฉพาะฟาร์มแพะ) ควรป้องกันไม่ให้สัมผัสถูกเชื้อโรคโดยตรง เช่น

    ขณะทำงานควรสวมถุงมือยางชนิดหนาและทนทาน สวมหน้ากากปิดปากและจมูก ใส่ชุดกันเปื้อน
    ระวังอย่าให้เข็มฉีดยาหรือเจาะเลือดทิ่มตำ
    ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ภายหลังการสัมผัสถูกน้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ สารคัดหลั่งจากอวัยวะสืบพันธุ์  เลือด น้ำเหลือง มูลสัตว์ รกและลูกสัตว์ที่แท้ง

5. ถ้าถูกเข็มฉีดวัคซีนโรคนี้ทิ่มต่ำเข้าโดยบังเอิญ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อทันที และควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาป้องกัน แพทย์จะให้กินดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับไรแฟมพิซิน 600-900 มก. วันละ 1 ครั้ง นาน 21 วัน

ถ้าวัคซีนบังเอิญเข้าตาควรรีบล้างออก และควรกินยาป้องกันนาน 4-6 สัปดาห์

6. หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงให้สุก และนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อ (พาสเจอร์ไรซ์) การต้ม หรือการทำให้สุกด้วยความร้อนวิธีอื่น ๆ

7. เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องแยกผู้ป่วย แต่ต้องระวังอย่าสัมผัสถูกหนองและน้ำเหลืองของผู้ป่วย หนองและเลือดของผู้ป่วยที่ติดตามเสื้อผ้าหรือบริเวณต่าง ๆ ต้องผ่านการทำลายเชื้อ

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ถึงแม้พบได้ไม่บ่อย แต่ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการไข้เรื้อรังร่วมกับน้ำหนักลด ข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบ หรือการอักเสบของอวัยวะหลายส่วน ก็ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคบรูเซลโลซิส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไม่ชัดเจน คือมีเพียงอาการไข้ต่ำ ๆ เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจน อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคจิตประสาท (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือนอนไม่หลับร่วมด้วย)

ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว อย่าลืมถามประวัติการทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง (โดยเฉพาะโค กระบือ แพะ หมู) หรือการบริโภคนมวัวหรือนมแพะที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงให้สุก

2. โรคนี้ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อ การติดจากคนสู่คนเกิดขึ้นได้น้อยมาก จะติดได้ก็โดยการสัมผัสถูกหนองและน้ำเหลืองของผู้ป่วยเท่านั้น