ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: ไข้ซิกา (Zika fever)  (อ่าน 86 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 906
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: ไข้ซิกา (Zika fever)
« เมื่อ: วันที่ 4 สิงหาคม 2024, 18:40:28 น. »
หมอประจำบ้าน: ไข้ซิกา (Zika fever)

ไข้ซิกาเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ส่วนน้อยที่มีอาการเจ็บป่วยนั้นมักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย หายได้เอง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในคนทั่วไป ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อทารกในครรภ์


สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในสกุลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) เช่นเดียวกับไวรัสเด็งกี่ (เชื้อไข้เลือดออก) และมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับไข้เลือดออก และไข้ปวดข้อยุงลาย ดังนั้นจึงพบโรคนี้ระบาดในพื้นที่เดียวกับที่มีการระบาดของไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย

นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อไวรัสซิกาสามารถแพร่จากมารดา (หญิงที่ตั้งครรภ์) ไปสู่ทารกในครรภ์ได้ และมีรายงานว่าเชื้อนี้อาจติดต่อทางเลือด และทางเพศสัมพันธ์

ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-12 วัน (เฉลี่ย 4-7 วัน)


อาการ

ผู้ติดเชื้อไวรัสซิการาวร้อยละ 80 ไม่มีอาการแสดงของโรค มีราวร้อยละ 20 ที่จะมีอาการเจ็บป่วยซึ่งเกิดขึ้นหลังถูกยุงลายบ้านกัดประมาณ 3-12 วัน

มักมีอาการไข้เล็กน้อย ขึ้นเป็นผื่นแดงตามแขนขาและลำตัว ตาแดง (เยื่อตาขาวอักเสบ) มีอาการปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ และอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียร่วมด้วย

อาการมักจะเป็นเพียงเล็กน้อย และเป็นอยู่นานประมาณ 2-7 วัน


ภาวะแทรกซ้อน

สำหรับคนทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ยกเว้นในบางรายอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรได้ ซึ่งจะมีอาการกล้ามเนื้อแขนขา 2 ข้างและลำตัวอ่อนแรงเฉียบพลัน

ที่สำคัญ หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคนี้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์ เช่น ทำให้แท้งบุตร ทารกมีสมองเล็ก (Microcephaly) หรือสมองพิการร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ อาจทำให้ทารกเป็นกลุ่มอาการไข้ซิกาโดยกำเนิด (Congenital Zika Syndrome) ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่างร่วมกัน เช่น สมองเล็กอย่างรุนแรงร่วมกับกะโหลกบางส่วนยุบ เนื้อสมองถูกทำลาย ตาพิการ ข้อพิการ (เคลื่อนไหวลำบาก) กล้ามเนื้อเกร็งตัว (ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวลำบาก) เป็นต้น


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบดังนี้

    ไข้ ตัวร้อนเล็กน้อย
    ผื่นแดง
    ตาแดง


ในรายที่ไม่แน่ใจ แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดด้วยการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสซิกาในเลือดหรือปัสสาวะของผู้ป่วย


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้พาราเซตามอล แก้ปวดลดไข้

ผู้ป่วยมักจะหายได้เองภายใน 2-7 วัน

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม (เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์) ดูว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติของสมองหรือไม่ และให้การดูแลตามที่เหมาะสม


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้ ผื่นขึ้น ตาแดง ปวดข้อ หรือมีไข้ในช่วงที่มีคนในละแวกใกล้เคียงเป็นไข้ซิกา ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นไข้ซิกา ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามาใช้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคฟีแนก) เนื่องเพราะอาจทำให้เลือดออกง่าย
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
    มีอาการไข้สูง หนาวสั่นมาก หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์
    มีอาการซึมมาก เบื่ออาหาร อาเจียน หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ทำลายแหล่งเพาะยุงลาย และหาวิธีป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด (ดูหัวข้อ "การป้องกัน ในโรคไข้เลือดออก" เพิ่มเติม)

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่หรือประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ หากจำเป็นควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยสวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวให้มิดชิด ทายาป้องกันยุงกัด และนอนในมุ้งหรือห้องที่ติดมุ้งลวด


ข้อแนะนำ

1. ไข้ซิกามักพบในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้เลือดออก และอาจมีอาการไข้ ผื่นขึ้นคล้ายไข้เลือดออก (ระยะแรก) ผู้ที่มีไข้ ผื่นขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ และติดตามสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากสงสัยเกิดภาวะช็อก หรือมีเลือดออก ก็ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

2. หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่อยู่หรือเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้ซิกา ควรคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ และหากเป็นไข้ซิกา ควรคุมกำเนิดเป็นเวลานานอย่างน้อย 2 เดือน

หากสามีป่วยเป็นไข้ซิกา หรือมีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาด ควรคุมกำเนิด และใช้ถุงยางอนามัยป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์