ผู้เขียน หัวข้อ: อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง  (อ่าน 48 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 703
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
« เมื่อ: วันที่ 9 กรกฎาคม 2024, 18:10:10 น. »
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1-3

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะก่อนรับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต ควรได้รับพลังงานประมาณ 30 - 35 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวต่อวัน แต่จะต้องจำกัดปริมาณสารอาหารบางชนิด ได้แก่


1. โปรตีน

ควรได้รับโปรตีนในปริมาณ 0.6 กรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวต่อวัน ซึ่งอย่างน้อยร้อยละ 50 ของปริมาณโปรตีนที่บริโภคควรเป็นโปรตีนคุณภาพสูง

ควรได้รับการแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรดก่อนได้รับการจำกัดอาหารโปรตีน หรือถ้าผู้ป่วยรับประทานโปรตีนปริมาณต่ำมาก คือ 0.4 กรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวต่อวัน ควรรับประทานร่วมกับกรดอะมิโนจำเป็น 4.8 กรัมต่อวัน หรือกรดคีโตเสริมวันละประมาณ 0.1 กรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวต่อวัน


2. ไขมัน

ควรจำกัดไขมันอิ่มตัวในอาหาร บริโภคไขมันไม่อิ่มตัวได้ แต่ควรอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม


3. เกลือแร่

โซเดียม ควรจำกัดการบริโภคเกลือ โดยให้ปริมาณเกลือแกงน้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน และไม่ควรรับประทานผลไม้ตากแห้งหรือหมักดอง เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง

ฟอสฟอรัส ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น ถั่ว เนื้อสัตว์ ไข่แดง นมสด เต้าหู้ งา เมล็ดพืช กาแฟ เป็นตัน

โพแทสเชียม มีมากในผลไม้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดในระยะแรก เพราะไตยังสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ดี ควรจำกัดเมื่อมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง หรือเมื่อเป็นไตวายระยะสุดท้าย ผู้ป่วยสามารถรับประทานผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำในปริมาณที่เหมาะสม เช่น องุ่น ชมพู่ แพร์ พีช แต่ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีโพแทสเชียมสูง เช่น ทุรียน แคนตาลูป มะขาม กล้วย เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนระยะสุดท้ายที่ยังปัสสาวะได้ปกติ ไม่จำเป็นต้องจำกัดน้ำ แต่ควรจำกัดน้ำดื่มเมื่อมีอาการบวม หรือในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย


อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4-5

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย เมื่อไตเสื่อมประสิทธิภาพจนไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนการทำงานของไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ซึ่งจะลดการคั่งของน้ำและของเสีย ช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น

แต่การรักษาทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดนั้นจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสารอาหารโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่หลายชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะโปรตีน หากรุนแรงอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตจึงควรเรียนรู้วิธีการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง และลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยภาวะโภชนาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นได้นั้น ผู้ป่วยต้องบริโภคอาหารประเภทต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสม ตามรายละเอียด ดังนี้


1. โปรตีน

เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในการสร้างเสริมและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของกล้ามเนื้อต่างๆ ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดแล้วจำเป็นต้องได้รับปริมาณโปรตีนในอาหารที่สูงกว่าคนปกติทั่วไป เพื่อทดแทนการสลายของกล้ามเนื้อและปริมาณกรดอะมิโนที่สูญเสียไปในระหว่างการฟอกเลือด

ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับคือ 1.0 - 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยร้อยละ 50 ควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ หรือเนื้อปลา เลือกชนิดไม่ติดมันและหนังรับประทานมื้อละ 3 - 4 ช้อนกินข้าว ร่วมกับไข่ขาววันละ 2 - 3 ฟอง ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโนจำเป็นที่ปริมาณมากเพียงพอ

หากรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากเกินไป จะทำให้มีของเสียคั่งในเลือดมาก เนื่องจากผู้ป่วยจะทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพียงสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่หากผู้ป่วยได้รับอาหารที่มีโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ สุขภาพทรุดโทรม ระดับโปรตีนในเลือดลดต่ำลง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการบวมได้ง่าย ดังนั้น จึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

อาหารที่ควรเลี่ยง ได้แก่ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก เช่น ขาหมู หนังหมูหัน หนังเป็ดปักกิ่ง หมูกรอบ (หมู 3 ชั้น) ไข่แดง เครื่องในสัตว์


2. ไขมัน

เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายเนื่องจากให้พลังงานสูง ไขมันจากอาหารมีทั้งชนิดที่ดี คือ ไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว และไขมันชนิดไม่ดี คือ ไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว กะทิ หมูสามชั้น เนย ชีส หากรับประทานไขมันชนิดไม่ดีมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจตามมาได้ ผู้ป่วยฟอกเลือดมักมีระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์สูง บางรายมีระดับโคเลสเตอรอลสูงร่วมด้วย แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลหรือไขมันอิ่มตัวสูง


อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่

ไข่แดง ไข่ปลา ปลาหมึก หอยนางรม มันกุ้ง
หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด ไส้ กระเพาะ
อาหารที่มีส่วนผสมของครีม เนย เนยแข็ง เช่น ชีสเบอร์เกอร์
ขนมอบต่างๆ ครัวซอง เค้ก พัฟ พาย  ขนมครก
อาหารฟาสฟู้ด เช่น แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า


3. พลังงาน

ความเพียงพอในด้านพลังงานนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อร่างกาย การได้รับพลังงานที่พอเพียงจะช่วยป้องกันภาวะทุพโภชนาการ ร่างกายจะได้รับพลังงานจากอาหารที่รับประทานประเภทแป้งและไขมัน โดยทั่วไปปริมาณแคลอรีที่ผู้ป่วยต้องการคือ 30 - 35 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยร้อยละ 60 ของพลังงานควรมาจากอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล อีกร้อยละ 30 มาจากไขมัน หากบริโภคอาหารที่ให้พลังงานน้อยเกินไปจะทำให้น้ำหนักตัวลดลง และมีการสลายของกล้ามเนื้อมากขึ้น


4. เกลือแร่ เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ประกอบด้วย

โซเดียม การรับประทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมมากเกินไป มีผลเสียทำให้กระหายน้ำบ่อย และต้องดื่มน้ำมากขึ้น เมื่อร่างกายขับโซเดียมได้น้อยลงก็จะทำให้เกิดอาการบวม น้ำท่วมปอด ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตควรจำกัดเกลือโซเดียมในอาหารไม่ให้เกิน 1-2 กรัมต่อวัน ซึ่งเท่ากับเกลือแกงประมาณ 1-2 ช้อนชาต่อวัน หรือเท่ากับน้ำปลา 2.5-5 ช้อนชาต่อวัน ควรงดการเติมเกลือ น้ำปลา ซอส เพิ่มเติมในอาหาร งดอาหารหมักดองทุกชนิด เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักกาดดอง รวมถึงอาหารแปรรูป ได้แก่ ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง แฮม ปลากระป๋อง ของขบเคี้ยวประเภทซองทุกชนิด

ฟอสฟอรัส ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมักมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง หากร่างกายมีฟอสฟอรัสสะสมมากเกินไปจะกระตุ้นให้ระดับพาราธัยรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูงขึ้น ซึ่งมีผลเสียกับอวัยวะต่างๆ เช่น กระดูกเปราะ หักง่าย ฟอสฟอรัสมีมากในเมล็ดพืช ถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนมและเนื้อสัตว์ ไข่แดง กาแฟ งา ช็อกโกแลต มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น ดังนั้น แพทย์จึงให้ยาจับฟอสฟอรัสในอาหาร ได้แก่ แคลเซียมคาร์บอเนต หรือแคลเซียมอะซิเตท  ซึ่งต้องรับประทานพร้อมอาหารคำแรก เพื่อช่วยควบคุมให้ระดับฟอสฟอรัสในเลือดต่ำกว่า 5.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และระวังไม่ให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงเกิน 10.2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

 โพแทสเซียม เป็นเกลือแร่สำคัญที่มีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและหัวใจ ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดมักมีปัญหาโปแตสเซียมสูง จึงควรหลีกเลี่ยงผักผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูง และควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลการรักษาในการรับประทานผักผลไม้ที่มีปริมาณโปแตสเซียมที่เหมาะสมดังตารางด้านล่าง



5. วิตามิน

ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน เนื่องจากการรับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอ และวิตามินที่ละลายในน้ำได้จะสูญเสียไปในระหว่างการฟอกเลือดด้วย ผู้ป่วยจึงควรได้รับวิตามินเสริมต่างๆ ได้แก่ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 บี 12 ไบโอติน ไนอาซิน วิตามินซี และกรดโฟลิค ควรหลีกเลี่ยงวิตามินซีขนาดสูงและวิตามินเอ เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมในร่างกายได้


6. น้ำดื่ม

โดยทั่วไปแนะนำให้ดื่มน้ำได้เท่ากับปริมาณปัสสาวะต่อวัน บวกกับอีกวันละ 500-700 มิลลิลิตร ดังนั้น หากผู้ป่วยไม่มีปัสสาวะเลยหรือมีน้อยมาก สามารถดื่มน้ำได้ไม่เกินวันละ 700 มิลลิลิตร โดยต้องรวมเครื่องดื่มชนิดอื่น และอาหารทุกอย่างที่เป็นของเหลวด้วย ในผู้ป่วยที่มีปัสสาวะน้อยมาก น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันจะสอดคล้องกับปริมาณของเหลวต่างๆ ที่ดื่มเข้าไป โดยทั่วไปแนะนำให้น้ำหนักผู้ป่วยขึ้นได้ไม่เกินวันละ 1 กิโลกรัม หากผู้ป่วยดื่มน้ำมากเกินไปจะทำให้บวมมากขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอดได้ นอกจากนี้ หากน้ำหนักตัวขึ้นมากเกินไป ในระหว่างการฟอกเลือดจะต้องพยายามดึงน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น เช่น ตะคริว ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น


การปฏิบัติตัวในการเลือกรับประทานอาหาร

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ควรปฏิบัติตัวในการเลือกรับประทานอาหาร ดังนี้

รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ขาว เป็นประจำทุกมื้อ ไม่ต้องจำกัดเหมือนก่อนทำการฟอกเลือด
รับประทานอาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ให้เพียงพอทุกมื้อ
หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มและของหมักดอง
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เมล็ดถั่ว
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารใส่กะทิ เค้ก
เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก ในการประกอบอาหาร
เลือกรับประทานผลไม้ที่มีปริมาณโปแตสเซียมต่ำ เช่น แอปเปิ้ล ชมพู่ องุ่น ตามปริมาณที่แนะนำ
ตัวอย่างรายการอาหารที่ให้พลังงาน 1800 กิโลแคลอรี

โปรตีน 69 กรัม โพแทสเซียม 1600 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 899 มิลลิกรัม และโซเดียม 1557 มิลลิกรัม

ในกรณีที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอโดยเฉพาะโปรตีน แพทย์อาจพิจารณาให้กรดอะมิโนทางหลอดเลือดดำเสริมในระหว่างที่ทำการฟอกเลือด