การรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่ และจัดให้ถูกหลักโภชนาการ เป็นการช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค เพิ่มโอกาสรอดชีวิต รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่ได้รับการรักษาโรค ดังนั้น ในการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถือว่า เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เพราะจะต้องจำกัดในเรื่องของปริมาณของอาหารที่จะรับประทานเข้าไป และต้องเลือกอาหารให้เหมาะสมกับโรคประจำตัว เพื่อให้ร่างกายได้นำสารอาหารเข้าไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกายของผู้ป่วย แต่ในวันนี้ทางเราจะมาพูดถึงเรื่องของอาหารบำบัดสำหรับคนที่มีเกล็ดเลือดต่ำ
ซึ่งอาการเหล่านี้ สามารถช่วยบรรเทาได้ด้วยการรับประทานอาหาร โดยเกล็ดเลือดถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเลือดในร่างกายเรา มีลักษณะคล้ายจาน มีความหนืด และไม่มีสี มีหน้าที่หลัก คือ การจัดตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่ออุดตันเลือดไม่ให้ไหลออกจากร่างกายมากเกินไป เช่น กรณีที่เกิดแผลเลือดออก หรือแผลฟกช้ำ สาเหตุที่ทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายต่ำอาเกิดจาก โรคร้าย, โรคมะเร็ง, พันธุกรรม และอาการผิดปกติอื่นๆในร่างกาย การรักษาอาการเกล็ดเลือดต่ำนั้น นอกจากการรับประทานยา และการเข้าพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอแล้วนั้น การเลือกรับประทานอาหารเพิ่มเกล็ดเลือดจากธรรมชาติที่มีประโยชน์ยังช่วยเพิ่มและรักษาสมดุลของปริมาณเกล็ดเลือดในร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากๆ อย่างไรก็ตาม ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ก็อาจเป็นผลมาจากโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคภูมิต้านตัวเอง ภาวะเลือดมีแบคทีเรีย หรืออาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์หนักมากเป็นเวลานาน หรือใช้ยาละลายลิ่มเลือด ใช้ยากันชัก และหากกำลังรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด หรือ รังสีรักษา ก็ทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำได้เช่นกัน
สำหรับวิธีเพิ่มเกล็ดเลือดอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อช่วยเพิ่มโฟเลตให้กับร่างกาย ซึ่งโฟเลตเป็นวิตามินบีชนิดสำคัญที่ช่วยบำรุงเลือด ทำให้เลือดมีสุขภาพดี แนะนำให้ผู้ใหญ่ควรได้รับโฟเลตอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม และหากเป็นหญิงตั้งครรภ์ก็ควรได้รับโฟเลตวันละ 600 ไมโครกรัม โดยสามารถหาโฟเลตได้จากผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง หน่อไม้ฝรั่ง รวมถึงพืชตระกูลถั่ว ธัญพืช ส้ม ข้าว ยีสต์ ตับวัว นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง หากร่างกายได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ ก็จะทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติได้ โดยอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 เช่น เนื้อวัว ตับวัว ไข่ หอย ปลา (เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า)
แต่หากคุณกินมังสวิรัติ หรือเป็นวีแกน ก็อาจเพิ่มวิตามินบี 12 ได้ด้วยการกินอาหารเสริมวิตามินบี 12 นมถั่วเหลืองหรือนมอัลมอนด์เสริมวิตามินบี 12 ต่อมาคือ อาหารที่มีธาตุเหล็ก สามารถช่วยให้เกล็ดเลือดและเซลล์เม็ดเลือดแดงสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งสามารถเพิ่มธาตุเหล็กได้จากการกินดาร์กช็อกโกแลต หอยนางรม ตับวัว เต้าหู้ ถั่วแดง ถั่วขาว แต่ถ้าอยากเพิ่มเกล็ดเลือดด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ก็ต้องระวังอย่ารับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ชีส โยเกิร์ต ปลาซาร์ดีน เวย์โปรตีน นมวัว หรืออาหารเสริมแคลเซียมในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กได้
ต่อมาคือ วิตามินซี ที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังช่วยให้เกล็ดเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการสร้างเกล็ดเลือดได้เป็นอย่างดี โดยคุณสามารถหาวิตามินซีได้จากบร็อคโคลี่ มะม่วง ฝรั่ง ส้ม เกรปฟรุต สัปปะรด พริกหยวก มะเขือเทศ กีวี สตรอว์เบอร์รี เป็นต้น และสุดท้ายคือ วิตามินเค ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างลิ่มเลือด ช่วยบำรุงกระดูก โดยสามารถหาวิตามินเคได้จากผักใบเขียว เช่น คะน้า ปวยเล้ง บร็อคโคลี่ ถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง ฟักทอง และถั่วเหลืองหมักดอง ดังนั้น วิธีการเพิ่มเกล็ดเลือด นอกจากจะรับประทานอาหารบำรุงเกล็ดเลือดที่เราแนะนำข้างต้นให้มากขึ้นแล้ว ควรงดหรือลดอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด ที่อาจทำให้เกล็ดเลือดต่ำ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำแครนเบอร์รี แอสปาร์แตมหรือน้ำตาลเทียม
อย่างไรก็ตาม เราทุกคนควรพยายามรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และรับประทานในแต่ละหมู่ให้มีความหลากหลาย ไม่จำเจอยู่เพียงอาหารไม่กี่ชนิด เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆ ครบในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ทางเราอยากให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งเน้นย้ำมาตลอดให้ทุกคนเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญควรจะหมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บด้วย
บริการด้านอาหาร: อาหารบำบัด สำหรับคนที่มีเกล็ดเลือดต่ำ!?! อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://snss.co.th/dt_post/catering-service/