กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
53
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้
54
หมอประจำบ้าน: กระเพาะอาหารทะลุ/แผลเพ็ปติกทะลุ (Peptic perforation)

พบในผู้ป่วยแผลเพ็ปติกที่ปล่อยปละละเลย ขาดการรักษาอย่างจริงจัง จนแผลค่อย ๆ กินลึกจนทะลุเป็นรู

สาเหตุ

มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของผู้ป่วยที่เป็นโรคแผลเพ็ปติกที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ผู้ป่วยมักมีประวัติปวดท้องตรงใต้ลิ้นปี่เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือมีประวัติชอบกินยาแก้ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดข้อ (เช่น ยาแก้ปวดที่เข้าแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาชุด) ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเสียดแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ ซึ่งเกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อนและปวดติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง ๆ (มักเป็นนานเกิน 6 ชั่วโมง) กินยา ฉีดยาอะไรก็ไม่ได้ผล อาการปวดมักลุกลามไปทั่วท้องอย่างรวดเร็ว และอาจรู้สึกปวดร้าวไปที่หัวไหล่ข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ผู้ป่วยมักจะนอนนิ่ง ๆ หากขยับเขยื้อนจะรู้สึกปวดมากขึ้น บางรายอาจมีการคลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม

ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มักทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และโลหิตเป็นพิษ ซึ่งเป็นอันตรายถึงตายได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

มีอาการกดเจ็บ (tenderness) กดปล่อยแล้วกดเจ็บ (rebound tenderness) และท้องแข็ง (guarding) ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่

ใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้อง จะได้ยินเสียงโครกครากลดน้อยกว่าปกติ หรือแทบไม่ได้ยินเลย

ชีพจรมากกว่า 120 ครั้ง/นาที

บางรายอาจมีอาการช็อก หรือกระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ความดันต่ำ

บางรายอาจมีไข้ขึ้น

แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเอกซเรย์ และการตรวจพิเศษอื่น ๆ

การรักษาโดยแพทย์
หากสงสัยแพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และทำการผ่าตัดอย่างฉุกเฉิน

การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น ปวดท้องรุนแรง ปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมง หน้าท้องกดเจ็บหรือเกร็งแข็ง เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นกระเพาะอาหารทะลุ/แผลเพ็ปติกทะลุ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด

การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการซื้อกินยาแก้ปวด หรือยาแก้ปวดข้อมากินเองเป็นประจำ

2. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัดหรือดื่มเป็นประจำ

3. หากตรวจพบว่าเป็นโรคแผลเพ็ปติก ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง

ข้อแนะนำ

โรคนี้ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากสงสัย (เช่น มีอาการปวดท้องรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง) ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลด่วน และรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมักจะช่วยให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานก็ยิ่งมีอันตรายมากขึ้น
56
หมอประจำบ้าน: ตับอักเสบจากไวรัส (Viral hepatitis)

ตับอักเสบจากไวรัส (ไวรัสลงตับ ก็เรียก) หมายถึงการอักเสบของเนื้อตับเนื่องจากการติดเชื้อไวรัส*

ในที่นี้หมายถึง ตับอักเสบจากไวรัสชนิดเฉียบพลัน ซึ่งพบเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) ที่เกิดขึ้นในเด็กโตและผู้ใหญ่ จนเป็นที่เข้าใจกันว่า โรคดีซ่าน ก็คือ ตับอักเสบจากไวรัส

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในเด็กและคนหนุ่มสาว บางครั้งอาจพบระบาดตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน กองทหาร เป็นต้น

*ตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสตับอักเสบ (hepatitis virus) ส่วนน้อยเกิดจากไวรัสชนิดอื่น เช่น คางทูม หัดเยอรมัน เริม ไวรัสไซโตเมกาโล เป็นต้น นอกจากไวรัสแล้ว ตับอักเสบยังอาจเกิดจากแอลกอฮอล์ ยา (เช่น ไอเอ็นเอช ไรแฟมพิซิน คีโตโคนาโซล อีริโทรไมซิน ยาลดไขมันกลุ่มสแตติน เป็นต้น) สมุนไพร (ขี้เหล็ก บอระเพ็ด) ทำให้มีอาการดีซ่าน ตับโต คล้ายโรคตับอักเสบจากไวรัส ซึ่งบางครั้งอาจแยกกันไม่ได้ชัดเจน อาจต้องทำการตรวจเลือดและตรวจพิเศษอื่น ๆ

สาเหตุ

ในปัจจุบันพบว่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่

1. เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (hepatitis A virus/HAV) ซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดเอ (hepatitis A) หรือเดิมเรียกว่า "Infectious hepatitis" สามารถติดต่อโดยทางระบบทางเดินอาหาร กล่าวคือ โดยการกินอาหาร ดื่มนมหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ที่มีเชื้อโรคนี้ (เช่นเดียวกับโรคบิด อหิวาต์ ไทฟอยด์) ดังนั้นจึงสามารถแพร่กระจายโรคได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา ซึ่งการสุขาภิบาลยังไม่ดี บางครั้งอาจพบเป็นโรคระบาดได้

ระยะฟักตัวของตับอักเสบชนิดเอ 15-45 วัน (เฉลี่ย 30 วัน) ซึ่งนับว่าสั้นกว่าชนิดบี

2. เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (hepatitis B virus/HBV) ซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดบี (hepatitis B) หรือเดิมเรียกว่า "Serum hepatitis"

เชื้อนี้จะมีอยู่ในเลือด และยังอาจพบมีอยู่ในน้ำลาย น้ำตา น้ำนม ปัสสาวะ น้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอด เป็นต้น

เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยทางเพศสัมพันธ์ หรือถ่ายทอดจากมารดาไปยังทารกขณะคลอด หรือหลังคลอดใหม่ ๆ ทำให้ทารกมีเชื้อโรคนี้อยู่ในร่างกายซึ่งสามารถแพร่ให้ผู้อื่นได้

นอกจากนี้ โรคนี้ยังสามารถติดต่อโดยทางเลือด เช่น การให้เลือด การฉีดยา การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย การทำฟัน การใช้เครื่องมือแพทย์ที่แปดเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ เป็นต้น

ระยะฟักตัวของตับอักเสบชนิดบี 30-180 วัน (เฉลี่ย 60-90 วัน)

3. เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี (hepatitis C virus/HCV) ซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดซี (hepatitis C) เชื้อชนิดนี้สามารถติดต่อโดยทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ และถ่ายทอดจากมารดาไปยังทารกได้เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี ระยะฟักตัว 6-7 สัปดาห์

ผู้ติดเชื้อชนิดซี อาจกลายเป็นพาหะหรือโรคตับอักเสบเรื้อรัง และมีภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับตับอักเสบชนิดบี

นอกจากไวรัสทั้ง 3 ชนิดนี้แล้ว ยังมีไวรัสชนิดอื่น ๆ ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอี (hepatitis E virus) ซึ่งสามารถติดต่อโดยทางอาหารการกินเช่นเดียวกับชนิดเอ เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดจี (hepatitis G virus) ซึ่งสามารถติดต่อโดยทางเลือด เช่น การให้เลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ใช้ยาเสพติด

นอกจากนี้ยังพบเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดดี (hepatitis D virus) ซึ่งมักพบร่วมกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี พบมากในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และอาจทำให้อาการตับอักเสบจากเชื้อไวรัสบีมีความรุนแรงมากขึ้น

อาการ

ตับอักเสบจากไวรัสชนิดเฉียบพลันจะมีอาการแสดง ดังนี้

ระยะนำ ผู้ป่วยมักมีอาการอื่น ๆ นำมาก่อนจะมีอาการตาเหลืองประมาณ 2-14 วัน ด้วยอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อิดโรย คลื่นไส้ อาเจียน และเป็นไข้ (ประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส)

บางรายอาจมีอาการปากคอจืด และเหม็นเบื่อบุหรี่อย่างมาก

บางรายอาจมีอาการปวดเสียดหรือจุกแน่นแถวลิ้นปี่หรือชายโครงขวา อาจมีอาการถ่ายเหลวหรือท้องเดิน หรือมีอาการเป็นหวัด เจ็บคอ ไอ คล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ หรืออาจมีอาการปวดตามข้อมีลมพิษ ผื่นขึ้น

ก่อนมีอาการตาเหลือง 1-5 วัน ผู้ป่วยจะปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น และอุจจาระสีซีดกว่าปกติ ระยะนี้มักจะพบว่าตับโตและเคาะเจ็บ

ระยะตาเหลือง เมื่อมีอาการตาเหลือง อาการต่าง ๆ จะเริ่มทุเลา และไข้จะลดลงทันที (หากยังมีไข้ร่วมกับตาเหลืองอีกหลายวัน ควรนึกถึงสาเหตุอื่น (ตรวจอาการดีซ่าน/ตาเหลือง) ตาจะเหลืองเข้มมากที่สุดในสัปดาห์ที่ 1 และ 2 แล้วจะค่อย ๆ จางหายไปใน 2-4 สัปดาห์ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมีอาการตาเหลืองอยู่ประมาณ 3-5 สัปดาห์ และน้ำหนักตัวอาจลดไป 2-3 กิโลกรัม

ในขณะที่ตาเหลืองเริ่มจางลง ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นอุจจาระกลับมีสีเข้มเหมือนปกติ และปัสสาวะสีค่อย ๆ จางลง ระยะนี้ตับยังโตและเจ็บ แต่จะค่อย ๆ ลดน้อยลง ต่อมน้ำเหลืองที่หลังคอและม้ามอาจโตได้

ระยะฟื้นตัว หลังจากหายตาเหลืองแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายขึ้น แต่ยังอาจรู้สึกเหนื่อยล้า ตับจะยังโตและเจ็บเล็กน้อย กินเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อาการจะหายสนิทภายใน 3-4 เดือน หลังมีอาการแสดงของโรค

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการตาเหลือง (ดีซ่าน) ให้เห็น หรือคลำตับไม่ได้ มีเพียงอาการเพลียคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปวดเสียดชายโครงขวา ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนมากมักจะหายเป็นปกติโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นตับอักเสบชนิดเอ

ส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะพบในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดบีหรือซี และมักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคอื่น ๆ (เช่น หัวใจวาย เบาหวาน มะเร็ง โลหิตจางรุนแรง เป็นต้น) อยู่ก่อน

โรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตในเวลารวดเร็ว (ซึ่งพบได้น้อยมาก) ได้แก่ ตับอักเสบชนิดเร็วร้าย (fulminant hepatitis) ซึ่งเซลล์ของตับถูกทำลายจนเนื้อตับเสียเกือบทั้งหมด ผู้ป่วยจะมีอาการตาเหลืองจัด บวม และหมดสติ

ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดบี และร้อยละ 75 ของผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดซี อาจกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง (chronic hepatitis)* ซึ่งจะมีอาการอักเสบของตับอยู่นานเกิน 6 เดือน ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องอืดเฟ้อ ดีซ่าน หรือไข้ต่ำ ๆ บางรายอาจมีอาการของตับแข็ง แต่บางรายอาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลยก็ได้ จะวินิจฉัยได้แน่ชัดด้วยการตรวจเลือดพบว่ามีเอนไซม์ตับ ได้แก่ เอเอสที (AST)** และเอแอลที (ALT)*** สูงถึง 100-150 หน่วย และพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีร่วมด้วย หากปล่อยปละละเลยไม่ได้ดูแลรักษา อาจเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับในระยะยาวได้

 *โรคตับอักเสบเรื้อรัง (chronic hepatitis) นอกจากเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีแล้ว ยังอาจเกิดจากยา (เช่น เมทิลโดพาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ไอเอ็นเอชที่ใช้รักษาวัณโรค) หรือเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง หรือออโตอิมมูน (autoimmume) ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน

ผู้ป่วยบางรายอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง ตับวาย หรือมะเร็งตับ ในระยะ 5-10 ปีต่อมาได้

 **ย่อมาจาก aspartate aminotransferase ซึ่งเดิมเคยเรียกว่า SGOT (serum glutamic-oxaloacetic transaminase) ค่าปกติไม่เกิน 40 หน่วย

 ***ย่อมาจาก alanine aminotransferase ซึ่งเดิมเคยเรียกว่า SGPT (serum glutamic pyruvic transaminase) ค่าปกติไม่เกิน 35 หน่วย

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย โดยตรวจพบอาการตาเหลือง ตัวเหลือง คลำได้ตับโต ซึ่งมีลักษณะนุ่ม ผิวเรียบ กดเจ็บเล็กน้อย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการเจาะเลือดทดสอบการทำงานของตับ (liver function test) ซึ่งจะพบว่ามีระดับเอนไซม์ตับ (AST‚ ALT) สูงกว่าปกติเป็นสิบ ๆ เท่า (บ่งชี้ว่ามีการอักเสบของเซลล์ตับ) ตลอดจนระดับบิลิรูบิน (bilirubin ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ตัวเหลืองตาเหลือง) สูง

นอกจากนี้ยังอาจต้องเจาะเลือดตรวจดูชนิดของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค ว่าเป็นตับอักเสบชนิดเอ บี ซี หรือชนิดอื่น

การรักษาโดยแพทย์

หากสงสัย จะทำการชันสูตรเพิ่มเติมโดยการตรวจเลือด เมื่อตรวจพบว่าเป็นตับอักเสบจากไวรัสชนิดเฉียบพลัน จะให้การรักษาดังนี้

1. ถ้าพบในเด็กหรือคนหนุ่มสาว ซึ่งอาการโดยทั่วไปดี กินข้าวได้ ไม่ปวดท้องหรืออาเจียน แพทย์จะให้คำแนะนำผู้ป่วยในการปฏิบัติตัวต่าง ๆ

ส่วนยาไม่จำเป็นต้องให้ ยกเว้นการให้ยาบรรเทาอาการ เช่น ถ้าคลื่นไส้ อาจให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ถ้ากินไม่ได้อาจฉีดกลูโคสหรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น

2. ถ้าอาการตาเหลืองไม่จางลงใน 2 สัปดาห์ หรือมีไข้สูง อ่อนเพลียมาก น้ำหนักลดมาก ปวดท้องมากหรืออาเจียนมาก หรือพบในผู้สูงอายุ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม (เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เป็นต้น) และให้การรักษาตามภาวะผิดปกติหรือสาเหตุที่ตรวจพบ บางกรณีแพทย์อาจจำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล

3. สำหรับโรคตับอักเสบจากไวรัส ในการติดตามผลการรักษา จะนัดตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ (ประมาณทุก 2-4 สัปดาห์) จนกระทั่งแน่ใจว่าระดับเอนไซม์เอเอสทีและเอแอลทีลงสู่ปกติซึ่งแสดงว่าหายดีแล้ว

ผลการรักษา ส่วนใหญ่จะหายดี (ตาหายเหลือง หายเพลีย กินข้าวได้มาก และผลเลือดเป็นปกติ) ภายใน 3-16 สัปดาห์

ส่วนน้อย (โดยเฉพาะในรายที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี) อาจเป็นเรื้อรังนานเกิน 6 เดือน เรียกว่า ตับอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการตรวจชิ้นเนื้อตับ (liver biopsy) และการตรวจเลือดเพื่อดูสาเหตุ ความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อน (เช่น ตับแข็งหรือมะเร็งตับ)

สำหรับไวรัสตับอักเสบชนิดบี แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส เช่น ลามิวูดีน (lamivudine)   

สำหรับไวรัสตับอักเสบชนิดซี แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส เช่น ไรบาไวริน (ribavirin), ยาสูตรผสม sofosbuvir/velpatasvir เป็นต้น   

บางรายอาจจำเป็นต้องฉีดอินเทอร์เฟอรอน (interferon) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านไวรัสและลดการอักเสบของตับร่วมด้วย แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามการรักษาเป็นระยะ (เช่น ทุก 3 เดือน) และให้ยาต่อเนื่องกันนานเป็นแรมปี หรือจนกว่าจะหายขาด

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการตาเหลืองตัวเหลือง อ่อนเพลีย หรือปวดเสียดใต้ชายโครงขวา เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นตับอักเสบจากไวรัส ควรดูแลตนเอง ดังนี้

1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

    พักผ่อนอย่างเต็มที่ ห้ามทำงานหนักจนกว่าจะรู้สึกหายเพลีย
    ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณวันละ 10-15 แก้ว
    กินอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ซุบ ถั่วต่าง ๆ) ให้มาก ๆ ส่วนอาหารมันให้กินได้ตามปกติ ยกเว้นในรายที่กินแล้วคลื่นไส้อาเจียนให้งด
    ถ้าเบื่ออาหารให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำตาลกลูโคส ถ้ากินอาหารได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำหวานหรือกลูโคสให้มากขึ้น อาจทำให้น้ำหนักเกินได้
    ถ้ามีอาการท้องอืดหรือคลื่นไส้ ควรงดอาหารมัน
    แยกสำรับกับข้าวและเครื่องใช้ส่วนตัวออกจากผู้อื่น
    ล้างมือหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
    งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2. ดูแลรักษาและกินยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง

3. ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด

4. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีไข้สูง หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
    ปวดท้องมาก คลื่นไส้อาเจียน หรือกินไม่ได้
    อ่อนเพลียมากขึ้น หรือตัวเหลืองตาเหลืองมากขึ้น
    อาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์
    หลังกินยาที่แพทย์แนะนำ มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    มีความวิตกกังวล

การป้องกัน

1. สำหรับตับอักเสบชนิดเอ ควรกินอาหารสุกที่ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด ถ่ายลงส้วม ล้างมือด้วยน้ำสบู่ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง   

ปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันตับอักเสบชนิดเอ แนะนำให้ฉีดแก่สมาชิกในครอบครัวผู้ป่วย ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหาร บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเมื่อมีการระบาดของโรค (เช่น นักเรียน ทหาร เป็นต้น) โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน

สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปี ควรตรวจเลือดก่อน หากพบว่ามีภูมิคุ้มกันแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีด

2. สำหรับตับอักเสบชนิดบีและซี ควรปฏิบัติดังนี้

    ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยา หรือให้น้ำเกลือโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องฉีดยา ควรเลือกใช้เข็มและกระบอกฉีดยาที่ผ่านกรรมวิธีทำให้ปลอดเชื้อ
    ในการให้เลือดควรใช้เลือดที่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยการตรวจเช็กเลือดของผู้บริจาคทุกราย

    หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด และแปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น และห้ามใช้อุปกรณ์ในการสักร่วมกับผู้อื่น

    แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ควรระมัดระวังในการสัมผัสถูกเลือดของผู้ป่วย เช่น สวมถุงมือขณะเย็บแผล ผ่าตัด หรือสวนปัสสาวะผู้ป่วย
    วัคซีนป้องกันตับอักเสบชนิดบี สำหรับทารกแรกเกิดทุกคน สถานบริการสุขภาพของรัฐจะฉีดวัคซีนชนิดนี้โดยไม่คิดมูลค่าตั้งแต่วันแรกที่เกิด วัคซีนชนิดนี้จะฉีดให้ 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ

     สำหรับผู้ใหญ่ก่อนฉีดวัคซีนชนิดนี้ควรตรวจเลือดเสียก่อน หากพบว่าเป็นพาหะหรือมีภูมิคุ้มกันแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีด

ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบจากไวรัสชนิดเฉียบพลัน ห้ามดื่มแอลกอฮอล์นาน 1 ปี เพราะอาจทำให้โรคเรื้อรังหรือกำเริบใหม่ได้

2. ระหว่างที่เป็นโรคควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อตับ เช่น พาราเซตามอล เตตราไซคลีน ไอเอ็นเอช อีริโทรไมซิน ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น

3. เข็มฉีดยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคนี้ควรทิ้งไปเลย ห้ามนำไปใช้ฉีดผู้อื่นต่อ เพราะอาจแพร่เชื้อได้

4. ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบไม่จำเป็นต้องกลายเป็นโรคตับอักเสบเสมอไปทุกราย บางรายอาจมีเชื้ออยู่ในร่างกายเพียงชั่วคราวโดยไม่เป็นโรค แล้วเชื้อหายไปได้เอง

บางรายอาจมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีอยู่ในร่างกายโดยไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด แต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เรียกว่า พาหะ (carrier) ซึ่งสามารถตรวจพบจากการตรวจเลือดเช็กสุขภาพ (ดังนั้นจึงแนะนำให้หมั่นตรวจเช็กสุขภาพเป็นระยะ)

บางรายหลังได้รับเชื้ออาจมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือคลื่นไส้ อาเจียน จุกเสียดท้อง โดยไม่มีอาการตาเหลืองก็ได้

5. ผู้ที่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบชนิดบีหรือซี (พบเชื้อในกระแสเลือดโดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด) ควรหาทางพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายได้ตามปกติเช่นคนทั่วไป อย่าอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก งดบริจาคโลหิต ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้) และหมั่นตรวจเลือดดูเชื้อและทดสอบการทำงานของตับ (liver function test) รวมทั้งการตรวจหาสารแอลฟาฟีโตโปรตีน (alpha-fetoprotein) เพื่อค้นหามะเร็งตับระยะแรกเริ่ม ทุก 3-6 เดือน

ผู้ที่เป็นพาหะอาจเกิดโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับแทรกซ้อน โดยมากมักจะเกิดกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสบีหรือซีจากมารดามาตั้งแต่เกิด แล้วเชื้อจะอยู่ในร่างกายจนย่างเข้าวัย 40-50 ปี ก็อาจเกิดผลแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ หรือตรากตรำงานหนัก

6. ผู้ที่เป็นตับอักเสบจากไวรัสชนิดเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ มักตรวจพบจากการตรวจเลือด เช็กสุขภาพ ควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งหากพบระยะแรกเริ่ม ก็สามารถรักษาได้ผลดี มีอายุยืนยาวได้

7. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคตับอักเสบชนิดบี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นสามีหรือภรรยาและบุตรควรตรวจเลือด ถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันโรคควรฉีดวัคซีนป้องกัน

8. หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะต้องได้รับการตรวจเลือดดูว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือไม่ ถ้าพบว่ามีเชื้อ ทารกที่เกิดมาทุกคนจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี 3 ครั้ง ตั้งแต่แรกเกิด และเมื่ออายุครบ 1 และ 6 เดือน และในรายที่มารดาตรวจพบ HBeAg เป็นผลบวก ทารกจะต้องได้รับการฉีดสารอิมมูนโกลบูลิน (hepatitis B immune globulin/HBIG) ร่วมกับวัคซีนดังกล่าวจะช่วยป้องกันมิให้ทารกติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10