ผู้เขียน หัวข้อ: การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)  (อ่าน 150 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1212
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
« เมื่อ: วันที่ 19 มีนาคม 2025, 15:10:07 น. »
การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)

การป้องกันโรคความดันสูงทำได้โดยการดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง เช่น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักและผลไม้ เลือกอาหารประเภทปลาที่อุดมด้วยกรดไขมันอิ่มตัว หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์สีแดง อาหารไขมันสูง และอาหารที่มีโซเดียมปริมาณมาก ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป งดสูบบุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เครียด โดยทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น นั่งสมาธิ พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเมื่อรู้สึกไม่สบายใจ และควรตรวจสุขภาพประจำปี หากตรวจพบว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพและได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา


ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)

โรคความดันสูงเรื้อรังอาจทำให้หลอดเลือดและอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายของผู้ป่วยเกิดความเสียหายจนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงในสมองเกิดการอุดตัน ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดเพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารไปสู่สมองได้ ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองตายจากการขาดออกซิเจน การควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ที่ถูกสั่งการจากสมองส่วนที่เสียหายเกิดความผิดปกติด้วย และเมื่อความดันในหลอดเลือดมากขึ้น อาจทำให้หลอดเลือดในสมองแตกจนนำไปสู่การเสียชีวิต

หัวใจขาดเลือด (Heart attack)
ความดันโลหิตสูงอาจส่งผลให้ผนังหลอดเลือดหัวใจแข็งและหนาตัวขึ้น ต่อมาอาจผนังหลอดเลือดหัวใจอาจฉีกขาดและอุดตันทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ตามปกติ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

หัวใจวาย (Heart failure)
เมื่อหัวใจมีการสูบฉีดเลือดเพื่อต้านกับแรงดันในหลอดเลือดจากความดันโลหิตสูงขึ้นเป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักจนมีความหนามากขึ้นและหัวใจโตขึ้น การสูบฉีดเลือดจึงทำได้ยากขึ้น ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้เพียงพอ และทำให้หัวใจวาย

โรคไต
ความดันโลหิตสูงอาจทำให้หลอดเลือดในไตตีบแคบหรือเสียหายได้ ไม่สามารถกรองเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไตได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคไตและไตวายได้

โรคที่จอตาจากความดันสูง
เมื่อความดันโลหิตสูงจะส่งผลให้หลอดเลือดในดวงตาแตกหรือมีเลือดออกได้ ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านสายตาหรือตาบอด

หลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aneurysm)
ความดันสูงอาจทำให้ผนังหลอดเลือดแดงเกิดความอ่อนแอ มีการโป่ง พอง นูนขึ้น หรือมีเลือดออกมาก แต่หากเกิดการฉีดขาดอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome)
กลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้เกิดการสะสมของไขมันมากผิดปกติ ทำให้ร่างกายเกิดภาวะอ้วนลงพุงได้ง่าย รอบเอวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง แต่มีไขมันดี (HDL) ในเลือดต่ำ ระดับอินซูลินในร่างกายสูง ซึ่งสภาวะเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมอง     

ปัญหาด้านความจำและระบบการคิด
ระดับความดันโลหิตสูงมากขึ้นจะส่งผลต่อความสามารถในการคิด ระบบความจำ และความสามารถในการเรียนรู้ หากหลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตันอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมในระยะยาวได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral artery disease: PAD) โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction) ในเพศชาย และความต้องการทางเพศลดลงในเพศหญิง