ผู้เขียน หัวข้อ: อาการของโรคเกลื้อน (Tinea versicolor/Pityriasis versicolor)  (อ่าน 16 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 961
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
อาการของโรคเกลื้อน (Tinea versicolor/Pityriasis versicolor)
« เมื่อ: วันที่ 19 ธันวาคม 2024, 17:04:19 น. »
อาการของโรคเกลื้อน (Tinea versicolor/Pityriasis versicolor)

เกลื้อน เป็นโรคเชื้อราของผิวหนังชนิดหนึ่ง พบได้บ่อยในคนหนุ่มสาว พบน้อยในเด็กและผู้สูงอายุ มักพบในผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่อบ หรือมีเหงื่อออกมาก เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแดด (ชาวไร่ ชาวนา กรรมกร) ทำงานแบกหาม ขับรถยนต์ นักกีฬา เป็นต้น

ผู้ที่เป็นเกลื้อนซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจมีภาวะบางอย่างที่สนับสนุนให้เกิดโรค เช่น การมีเหงื่อออกมากผิดปกติ การตั้งครรภ์ ภาวะโลหิตจาง ขาดอาหาร วัณโรค เอดส์ หรือการได้สเตียรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ เป็นต้น

โรคนี้ติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ยากมาก การเกิดโรคขึ้นกับภาวะร่างกายของผู้ป่วยที่เสริมให้เชื้อราที่มีอยู่ประจำถิ่น (normal flora) บนผิวหนังของผู้ป่วย (และคนทั่วไป) เจริญงอกงามมากกว่าการติดโรคจากการสัมผัสกับผู้ที่เป็นเกลื้อน

มักพบในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก หรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออก (เช่น คนทำงานในที่ที่อากาศร้อน นักกีฬา ทหาร) และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเอดส์)

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อราที่มีชื่อว่า มาลาสซีเซียเฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur)* ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีอยู่ตามหนังศีรษะของคนเราเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว

ในคนปกติถึงแม้จะมีเชื้อราชนิดนี้อยู่บนร่างกายก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรค แต่คนบางคนที่มีเหงื่อออกมาก เชื้อรานี้จะเจริญงอกงามจนทำให้กลายเป็นเกลื้อน

*เดิมมีชื่อเรียกว่า พิไทโรสปอรัมโอวาเล (Pityrosporum ovale) ซึ่งนอกจากเป็นสาเหตุของโรคเกลื้อนแล้ว ยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค และรังแค

อาการ

มีผื่นขึ้นเป็นดวงกลมเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 4-5 มม. จำนวนหลายดวง กระจายทั่วไปในบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น หน้า ซอกคอ หลัง ไหล่ เป็นต้น ผื่นมักแยกกันอยู่เป็นดวง ๆ บางครั้งอาจต่อกันเป็นแผ่นขนาดใหญ่ ผื่นจะมีสีได้หลายสี ตั้งแต่สีขาว น้ำตาลจาง ๆ จนถึงน้ำตาลแดง เห็นเป็นรอยด่าง หรือรอยแต้ม

ในระยะที่เป็นใหม่ ๆ ถ้าใช้เล็บหรือปากกาขูดเบา ๆ ผื่นเหล่านี้จะร่วนออกมาเป็นขุยขาว ๆ

มักไม่มีอาการคัน ยกเว้นในบางครั้งขณะมีเหงื่อออกมาก อาจรู้สึกคันเล็กน้อยพอรำคาญ

ภาวะแทรกซ้อน

โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแต่อย่างใด นอกจากมักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง และแลดูน่าเกลียด

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการตรวจลักษณะของรอยโรค การใช้เล็บหรือปากกาขูดเบา ๆ บนรอยโรค ผื่นจะร่วนออกมาเป็นขุยขาว ๆ

หากไม่แน่ใจ จะทำการวินิจฉัยโดยการขูดเอาขุย ๆ ของผิวหนังส่วนที่เป็นโรค ใส่น้ำยาโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ชนิด 10% แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเป็นเกลื้อนจะตรวจพบเชื้อราที่เป็นสาเหตุ

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

ทาด้วยครีมรักษาโรคเชื้อราวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นหลังอาบน้ำ ถ้าดีขึ้นควรทาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์

หรือใช้แชมพูสระผมเซลซัน (มีตัวยาซีลีเนียมซัลไฟด์) โดยอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้งก่อน แล้วใช้สำลีชุบยาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วอาบน้ำใหม่ล้างยาออก ทำเช่นนี้วันละครั้ง นาน 6 สัปดาห์ แต่ระวังอาจแพ้ เกิดอาการบวมแดง คัน หรือแสบร้อนคล้ายน้ำร้อนลวกได้ ถ้าแพ้ควรเลิกใช้

หรือใช้แชมพูคีโตโคนาโซล ทาทิ้งไว้ 5 นาที แล้วล้างออก วันละครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน

ในรายที่เป็นมากและบริเวณกว้างหรือเป็นเรื้อรัง แพทย์จะให้กินยาต้านเชื้อรา เช่น ไอทราโคนาโซล (Itraconazole), ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เป็นต้น

การดูแลตนเอง

ถ้ามั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกลื้อน ควรดูแลตนเองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ทาด้วยขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือครีมรักษาโรคเชื้อรา (ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร) วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นหลังอาบน้ำ ถ้าดีขึ้นควรทาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์
    ใช้แชมพูสระผมเซลซัน (มีตัวยาซีลีเนียมซัลไฟด์) โดยอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้งก่อน แล้วใช้สำลีชุบยาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วอาบน้ำใหม่ล้างยาออก ทำเช่นนี้วันละครั้ง นาน 6 สัปดาห์ แต่ระวังอาจแพ้ เกิดอาการบวมแดง คัน หรือแสบร้อน คล้ายน้ำร้อนลวกได้ ถ้าแพ้ควรเลิกใช้
    ใช้แชมพูคีโตโคนาโซล ทาทิ้งไว้ 5 นาที แล้วล้างออก วันละครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน

ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ถ้าไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์
    รอยโรคลุกลามมากขึ้น
    มีอาการกำเริบใหม่ หรือหาทางป้องกันไม่ได้ผล
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง

การป้องกัน

1. อย่าใส่เสื้อผ้าที่อับเหงื่อนาน ๆ ควรรักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้าอยู่เสมอ

2. บางรายเมื่อรักษาหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่อีก อาจป้องกันได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

    ทาครีมรักษาโรคเชื้อราทุกเดือน เดือนละ 2 วันติดต่อกัน ทาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นหลังอาบน้ำ
    ทาแชมพูเซลซันเดือนละครั้ง หรือแชมพูคีโตโคนาโซล 1 ครั้ง ทุก 2 สัปดาห์
    ถ้าไม่ได้ผลแพทย์จะให้กินยาไอทราโคนาโซล (itraconazole) หรือฟลูโคนาโซล (fluconazole) เดือนละครั้ง

ข้อแนะนำ

1. หลีกเลี่ยงการซื้อยาครีมสเตียรอยด์ (แก้แพ้แก้คัน) หรือยาอื่นที่ไม่ใช่ยารักษาเชื้อราหรือยารักษาโรคกลากเกลื้อนที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำมาใช้เอง เนื่องเพราะครีมสเตียรอยด์อาจทำให้โรคลุกลามได้ ส่วนยาน้ำที่ทาแล้วที่รู้สึกแสบ ๆ อาจทำให้ผิวหนังไหม้และอักเสบได้

2. ผู้ที่เคยเป็นเกลื้อน เมื่อหายแล้วอาจเป็นใหม่ได้อีก เพราะเชื้อราที่เป็นสาเหตุเป็นเชื้อราที่อยู่ในร่างกายของคนเราเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ อาจมีภาวะผิดปกติของร่างกายอื่น ๆ (เช่น เอดส์) ร่วมด้วย

3. รอยด่างขาวที่ผิวหนัง ถ้าเป็นเกลื้อนผิวหนังบริเวณนั้นจะย่นเล็กน้อย และมีเกล็ดบางเลื่อมสีขาว น้ำตาล หรือแดงเรื่อ ๆ คลุมอยู่บนผิว เวลาเอาเล็บขูดจะเป็นขุย ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคด่างขาว กลากน้ำนม ซึ่งทาด้วยยารักษาเกลื้อนจะไม่ได้ผล (ตรวจอาการผื่น/ตุ่ม/วงด่าง)