ผู้เขียน หัวข้อ: doctor at home: มะเร็งทอนซิล (Cancer of tonsil)  (อ่าน 55 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 863
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
doctor at home: มะเร็งทอนซิล (Cancer of tonsil)
« เมื่อ: วันที่ 5 กันยายน 2024, 18:40:44 น. »
doctor at home: มะเร็งทอนซิล (Cancer of tonsil)

มะเร็งทอนซิล พบได้น้อย (ประมาณร้อยละ 0.5 ของมะเร็งทั้งหมด) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปีพบได้ประปราย ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงข้างเดียว

สาเหตุ

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่

    การสูบบุหรี่ และการเสพยาสูบในรูปแบบอื่น ๆ
    การดื่มสุราจัด
    การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus/HPV) จากการมีเพศสัมพันธ์โดยทางปาก
    มีการบริโภคสารก่อมะเร็ง เช่น การกินหมาก
    การบริโภคผักและผลไม้น้อย


อาการ

มีอาการเจ็บคอเรื้อรังข้างหนึ่ง อาจเจ็บร้าวไปที่หูข้างเดียวกัน อาจพบมีเลือดปนในน้ำลายหรือเสมหะ มีกลิ่นปากเรื้อรัง กลืนลำบาก พูดเสียงคับปาก หายใจลำบากร่วมด้วย

มักตรวจพบว่าทอนซิลโตข้างหนึ่ง และต่อมน้ำเหลืองใต้คางหรือข้างคอโตจากการแพร่กระจายของมะเร็ง (บางครั้งอาจเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์)


ภาวะแทรกซ้อน

เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่มะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียง เช่น โคนลิ้น โพรงไซนัส กระดูกกราม กระดูกใบหน้า

ในระยะท้าย มะเร็งมักแพร่กระจายผ่านเข้ากระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), ตับ (เจ็บชายโครงขวา ตาเหลืองตัวเหลือง ท้องมาน), กระดูก (ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตัดชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ และใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง หลอดลมและหลอดอาหาร เพื่อดูว่าการลุกลามของมะเร็งมายังอวัยวะเหล่านี้ จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับรังสีบำบัด บางรายอาจให้เคมีบำบัดร่วมด้วย

ผลการรักษา โดยเฉลี่ยผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี มากกว่าร้อยละ 60


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการเจ็บคอเรื้อรังข้างหนึ่ง, เจ็บคอร่วมกับเจ็บร้าวไปที่หูข้างเดียวกัน, มีเลือดปนในน้ำลายหรือเสมหะ, มีกลิ่นปากเรื้อรัง กลืนลำบาก หรือพูดเสียงคับปาก, มีก้อนแข็ง (ต่อมน้ำเหลือง) ที่ใต้คางหรือข้างคอ

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งทอนซิล ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทอนซิลด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการเสพยาสูบทุกรูปแบบ (เช่น การเคี้ยวยาสูบ การสูดยานัตถ์)
    หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัด
    หลีกเลี่ยงการกินหมาก
    ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเอชพีวี ด้วยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เสรีและไม่ปลอดภัย รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ควรปรึกษาแพทย์ในการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่มีอาการเจ็บคอและทอนซิลโตข้างหนึ่งเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี