ผู้เขียน หัวข้อ: อาการของโรค: กระดูกซี่โครงหัก (Rib fracture) และภาวะอกรวน (Flail chest)  (อ่าน 83 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 895
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
อาการของโรค: กระดูกซี่โครงหัก (Rib fracture) และภาวะอกรวน (Flail chest)   

กระดูกซี่โครงหัก มีความรุนแรงมากน้อยขึ้นกับลักษณะของการบาดเจ็บ ส่วนมากจะไม่มีอาการรุนแรงและค่อย ๆ หายได้เอง ส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

สาเหตุ
มักเกิดจากแรงกระแทกถูกบริเวณซี่โครงโดยตรง เช่น ถูกตี ถูกเตะ หกล้ม กระแทก ถูกพื้นหรือมุมโต๊ะ ถูกรถชน เป็นต้น

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขณะก้มงอ บิดตัวหรือหายใจแรง ๆ และเมื่อใช้นิ้วกดถูกเบา ๆ จะรู้สึกเจ็บ

ถ้ากระดูกหักรุนแรง ทิ่มแทงถูกเนื้อปอด อาจทำให้เกิดภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือปอดทะลุ หรือมีเลือดออกในโพรงเยื่อหุ้มปอด (hemothorax) ผู้ป่วยจะมีอาการหอบ ตัวเขียว ไอออกเป็นฟองเลือดสด ๆ หรือช็อก หน้าอกเคาะโปร่ง (ถ้ามีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด) หรือเคาะทึบ (ถ้ามีเลือดในโพรงเยื่อหุ้มปอด)

ถ้ามีบาดแผลที่ผิวหนัง ทะลุถึงในปอด จะมีลมจากภายนอกผ่านบาดแผลเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มปอด ทำให้เกิดภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอดได้เช่นกัน

ถ้ากระดูกซี่โครงหักหลายแห่ง (มักพบในกรณีที่เกิดจากรถชน รถคว่ำ) อาจทำให้เกิดภาวะอกรวน (flail chest) ซึ่งเป็นกรณีที่กระดูกซี่โครงหักติดต่อกันตั้งแต่ 3 ซี่ขึ้นไป และแต่ละซี่หักมากกว่า 2 ตำแหน่ง การหักนี้อาจหักข้างเดียวหรือทั้งสองข้างของทรวงอก เกิดส่วนที่แยกออกจากผนังทรวงอกเรียกว่า "ส่วนลอย" (floating segment) ทำให้ผนังทรวงอกเสียรูป เกิดการเคลื่อนไหวของทรวงอกที่ผิดปกติ (paradoxical chest movement) จะมีอาการหอบ ตัวเขียว ช็อก และหายใจผิดธรรมดา คือ หน้าอกส่วนนั้นจะยุบลงเวลาหายใจเข้าและโป่งขึ้นเวลาหายใจออก ซึ่งตรงกันข้ามกับหน้าอกส่วนที่ปกติ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดลดลงและทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนได้ ภาวะอกรวนมักเกิดในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปมากกว่าคนหนุ่มสาว

ภาวะแทรกซ้อน
กระดูกที่หักอาจทิ่มแทงถูกเนื้อปอด ทำให้เกิดภาวะมีเลือดหรือลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรืออาจเกิดภาวะอกรวนเป็นอันตรายได้

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ และตรวจยืนยันโดยการเอกซเรย์

การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้ากระดูกซี่โครงหักแบบธรรมดา ไม่มีภาวะแทรกซ้อน เพียงแต่รู้สึกเจ็บปวดขณะเคลื่อนไหวหรือหายใจแรง ๆ ให้นอนพัก พยายามเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด อย่าหายใจเข้าออกแรง ๆ และให้กินยาแก้ปวด ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าพันหรือเข้าเฝือกรอบหน้าอก อาการเจ็บปวดจะค่อย ๆ ดีขึ้น อาจกินเวลา 1-2 สัปดาห์ และกว่าอาการปวดจะหายขาดอาจกินเวลาเป็นเดือน ๆ

2. ถ้ามีอาการหอบ ตัวเขียว ช็อก หรือสงสัยมีลมหรือเลือดอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือสงสัยมีภาวะอกรวน จะต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และทำการแก้ไขตามภาวะที่พบ

การดูแลตนเอง
หากสงสัย ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่ากระดูกหัก ควรดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

การป้องกัน
ระมัดระวังป้องกันตัวเองในเรื่องการเกิดอุบัติเหตุ และการหกล้ม


ข้อแนะนำ

ผู้ที่มีอาการเจ็บบริเวณซี่โครงตรงที่ถูกแรงกระแทก เวลาเคลื่อนไหวหรือหายใจแรง ๆ ถึงแม้จะไม่มีอาการผิดปกติ (เช่น หายใจลำบากหรือหายใจผิดปกติ) ร่วมด้วย ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด