อาหารสุขภาพ บำรุงเลือด กินอย่างนี้สิป้องกันภาวะโรคโลหิตจางสำหรับคนที่มีภาวะโลหิตจาง หรือแค่อยากบำรุงเลือดของตัวเองให้สมบูรณ์ที่สุด ลองกินอาหารบำรุงเลือดที่จริง ๆ แล้วเป็นอาหารที่เราคุ้นลิ้นและอาจจะเคยกินกันมาบ่อย ๆ อย่างที่ทราบกันมาบ้างแล้วว่า ถ้าอยากบำรุงเลือดควรต้องกินอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กและโปรตีน แต่อาหารชนิดไหนกันล่ะที่อุดมไปด้วยโปรตีนและธาตุเหล็กสำหรับบำรุงเลือด ว่าแล้วก็มาดูกันเลย
อาหารบำรุงเลือด 8 กลุ่มที่ควรทาน
1. เลือด ตับ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ
ธาตุเหล็กที่อยู่ในอาหารประเภทเลือด ตับ เนื้อสัตว์ เป็นธาตุเหล็กในรูปแบบสารประกอบฮีม (Heme Iron) ธาตุเหล็กรูปแบบนี้ร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ดี ดังนั้นใครที่ต้องการธาตุเหล็กสูงควรรับประทานเลือด ตับ และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเนื้อแดงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
2. ธัญพืช แป้ง ไข่ ผักใบเขียวเข้ม
ธาตุเหล็กรูปแบบนี้เป็นสารประกอบธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (Nonheme Iron) พบได้มากในอาหารประเภทธัญพืช แป้ง ไข่ ผักใบเขียวเข้ม อย่างคะน้า ผักบุ้ง บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง ใบมะรุม แต่อาหารเหล่านี้ควรรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือมะละกอ เนื่องจากร่างกายค่อนข้างดูดซึมสารประกอบธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมได้น้อย ต้องอาศัยกรดเกลือในกระเพาะอาหารและวิตามินซีช่วยในการดูดซึม
3. อาหารทะเล ปลา เป็ด ไก่ ม้าม และไข่แดง
อาหารเหล่านี้จัดเป็นธาตุเหล็กในรูปสารประกอบฮีม (Heme Iron) ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี โดยมีอัตราการดูดซึมอยู่ที่ร้อยละ 20-30 เลยทีเดียว ยิ่งหากได้กินอาหารเหล่านี้ร่วมกับวิตามินซีจากผลไม้ เช่น ส้มหรือฝรั่ง การดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ลำไส้เล็กจะยิ่งคล่องตัวมากขึ้น
4. ซีเรียล ข้าวโอ๊ต ถั่วแดง ถั่วดำ อัลมอนต์ จมูกข้าวสาลี
ธัญพืชเหล่านี้ก็อุดมไปด้วยธาตุเหล็กค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้ที่ไม่นิยมทานเนื้อสัตว์อาจเสริมธาตุเหล็กด้วยซีเรียล ข้าวโอ๊ต ถั่วดำ และถั่วแดงได้เช่นกัน
5. ข้าวเสริมธาตุเหล็ก, ข้าวหอมนิล, ข้าวสายพันธุ์ 313
ข้าวที่จัดว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตก็มีธาตุเหล็กสูงด้วยเหมือนกัน โดยข้าวเหล่านี้จะอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก กรดโฟลิก คลอโรฟิลส์ ซึ่งเป็นสารที่มีโมเลกุลคล้ายฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเสริมธาตุเหล็กแต่ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์
6. ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ
ฟักทอง แครอท และมะเขือเทศ แอบมีธาตุเหล็กกับเขาอยู่บ้าง แต่ก็อย่างที่บอกล่ะค่ะว่า ธาตุเหล็กที่ได้จากผักและผลไม้มักเป็นธาตุเหล็กที่ละลายยาก ร่างกายดูดซึมและนำไปใช้ได้ค่อนข้างน้อย จึงควรกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง ควบคู่กันไปด้วย
7. พริก กระเทียม ขมิ้น
สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดนี้มีส่วนช่วยให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดความดันโลหิตเลือดในอยู่ในเกณฑ์ปกติอีกด้วยนะคะ
8. น้ำว่านหางจระเข้
ในต่างประเทศนิยมนำว่านหางจระเข้มาคั้นน้ำแล้วดื่มเพื่อกระตุ้นร่างกายให้ ผลิตเลือด เนื่องจากว่านหางจระเข้อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์ กรดอะมิโน เอนไซม์ วิตามิน และแร่ธาตุหลากหลายชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติในการชะล้างของเสีย ต้านอาการอักเสบ และส่งเสริมระบบไหลเวียนโลหิตให้ทำงานคล่องตัวมากขึ้น
ผลไม้บำรุงเลือด 4 ชนิดที่ห้ามพลาด
นอกจากอาหารบำรุงเลือดแล้ว ผลไม้บำรุงเลือดก็มีให้เลือกรับประทานด้วยเช่นกัน ดังนี้ค่ะ
1. แก้วมังกร
ผลการวิจัยพบว่า แก้วมังกรเนื้อแดงดีต่อระบบไหลเวียนโลหิต และมีธาตุเหล็กอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเซลล์เม็ดเลือด
2. สตรอว์เบอร์รี
ด้วยคุณสมบัติของสตรอว์เบอร์รีที่มีวิตามินซีสูง จึงช่วยบำรุงเซลล์เม็ดเลือดแดง อีกทั้งเมล็ดเล็ก ๆ ที่อยู่ในเนื้อสตรอว์เบอร์รียังช่วยลำเลียงออกซิเจนในกระบวนการขจัดเลือด เสียได้เป็นอย่างดี
3. กล้วย
จากผลการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ใน American Journal of Epidemiology เผยว่า การบริโภคกล้วยเป็นประจำทุกวันส่งผลดีต่อสุขภาพเลือด เพราะช่วยลดความเสี่ยงโรคลูคีเมีย โดยเฉพาะในเด็กช่วงอายุ 0-2 ปี
4. แตงโม
จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเนราดาในสหรัฐฯ เผยว่า หากบริโภคแตงโมเพียงครึ่งผลต่อวัน จะดีต่อระบบไหลเวียนโลหิต เพราะกรดอะมิโนอาร์จีโนน์ (Arginine) ที่ร่างกายเปลี่ยนให้เป็นสารไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide) ทำให้เลือดสมบูรณ์ขึ้นถึงร้อยละ 22 จึงช่วยป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย และภาวะหลอดเลือดแข็งตัว
เมนูอาหารบำรุงเลือด
1. ไข่เจียวหมูสับใส่มะเขือเทศและตำลึง
2. กุ้งผัดบรอกโคลี
3. กระเพาะปลาเลือดหมู
4. ผัดดอกหอมใส่ตับ
5. แกงส้มมะรุม
6. ขนมปังทาเนยถั่ว+น้ำส้มคั้น
อาหารอะไรที่ต้องเลี่ยง
ที่สำคัญหากอยากเสริมธาตุเหล็ก จำเป็นต้องเลี่ยงหรือลดปริมาณการรับประทานอาหารดังต่อไปนี้ด้วยนะคะ เนื่องจากอาหารตามลิสต์ข้างล่าง จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าร่างกายนั่นเอง
1. นม เพราะมีแคลเซียมสูง
2. ชา กาแฟ ซึ่งมีสารแทนนิน
3. อาหารที่มีสารไฟเตท (Phytate) เช่น ข้าวไม่ขัดสี ถั่วเหลือง ใบชะพลู หัวผักกาด เป็นต้น
4. อาหารที่มีรสเค็มและอาหารไขมันสูง
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการธาตุเหล็กเสริมมากเป็นพิเศษ เช่น ในหญิงตั้งครรภ์ หรือบุคคลที่มีภาวะโลหิตจาง รวมไปถึงผู้สูงอายุที่เกิดอาการเบื่ออาหารจนได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อ ร่างกาย สามารถกินยาบำรุงเลือดได้อีกทางหนึ่ง
ยาบำรุงเลือด
โดยส่วนมากแล้วยาบำรุงเลือดมักจะมาในรูปแบบยาเม็ดเฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous Sulfate Tablets) ลักษณะเม็ดยาจะมีสีดำ ประกอบด้วยธาตุเหล็ก 17 มิลลิกรัม ใช้กินวันละ 1-2 เม็ด วันละ 1-3 ครั้งหลังอาหาร แนะนำให้รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 1-2 เดือน และควรจะกินร่วมกับวิตามินซีเพื่อช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กเป็นไปได้ด้วยดี
ยาบำรุงเลือดเหมาะกับใคร
ยาบำรุงเลือดเหมาะสำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางเนื่องจากขาดเหล็ก ซึ่งกลุ่มคนที่เข้าข่ายมีดังนี้
- เด็กเล็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุที่เบื่ออาหารหรือกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ
- หญิงตั้งครรภ์
- หญิงที่มีเลือดประจำเดือนออกมาก
- ผู้ที่เป็นโรคพยาธิปากขอ
- ผู้ที่กินมังสวิรัติไม่ถูกหลัก
ผลข้างเคียงของยาบำรุงเลือด
- อาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร มีอาการปวดมวนท้อง คลื่นไส้ หรือถ่ายเหลวได้
- อุจจาระเป็นสีดำ เป็นผลจากสีธาตุเหล็กในตัวยา ซึ่งเป็นเรื่องปกติ หากหยุดกินยาบำรุงเลือด อุจจาระจะกลับมาเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์
ข้อควรระวังในการใช้ยาบำรุงเลือด
ยาธาตุเหล็กบำรุงเลือดไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย เพราะโรคนี้ผู้ป่วยจะมีเหล็กสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินอยู่แล้ว ถ้ารับธาตุเหล็กเพิ่มเข้าไปอีกอาจทำให้เป็นโรคตับแข็ง เบาหวาน หัวใจโต และประสาทส่วนปลายอักเสบได้