ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลโรคเหน็บชา/โรคขาดวิตามินบี 1 (Beri-beri)  (อ่าน 49 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 703
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
ข้อมูลโรคเหน็บชา/โรคขาดวิตามินบี 1 (Beri-beri)
« เมื่อ: วันที่ 6 กรกฎาคม 2024, 19:21:00 น. »
ข้อมูลโรคเหน็บชา/โรคขาดวิตามินบี 1 (Beri-beri)

โรคเหน็บชา หมายถึงอาการเหน็บชาที่เกิดจากภาวะขาดวิตามินบี 1 หรือไทอามีน (thiamine) ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อย

โรคนี้อาจพบในผู้ที่กินอาหารที่มีวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ หรือผู้ที่มีความต้องการวิตามินบี 1 มากขึ้น เนื่องจากร่างกายมีการเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้น (เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร เด็กในวัยเจริญเติบโต ผู้ที่ทำงานหนัก ผู้ป่วยที่มีไข้สูง หรือเป็นโรคติดเชื้อ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เป็นต้น)

อาจพบในทารกที่มีมารดาเป็นโรคเหน็บชาและกินนมมารดาเพียงอย่างเดียว ผู้ที่นิยมกินอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น

สาเหตุ

เกิดจากการขาดวิตามินบี 1 ซึ่งอาจมีสาเหตุ ดังนี้

    การกินข้าวขาวที่ขัดสีจากโรงสี และกินเนื้อสัตว์น้อย ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ
    การกินอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 เช่น ชา เมี่ยง หมากพลู สีเสียด ปลาร้า เป็นต้น
    ภาวะที่ร่างกายมีการเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความต้องการวิตามินบี 1 สูงขึ้น เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร เด็กในวัยเจริญเติบโต ผู้ที่ทำงานหนัก (เช่น กรรมกร ชาวนา) ผู้ป่วยที่มีไข้สูง หรือเป็นโรคติดเชื้อ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เป็นต้น
    โรคตับเรื้อรัง (เช่น ตับแข็ง) ก็อาจเป็นโรคนี้ได้ เพราะตับไม่สามารถนำวิตามินบี 1 ไปใช้ประโยชน์ได้
    โรคพิษสุราเรื้อรังก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่าย เนื่องจากกินวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ ร่วมกับการดูดซึมของลำไส้ไม่ดี และตับทำงานได้ไม่ดี (ตับแข็ง)

อาการ

ในทารก มักจะมีอาการระหว่างอายุ 2-6 เดือน (พบในทารกที่กินนมมารดา และมารดากินอาหารที่ขาดวิตามินบี 1 หรืออดของแสลง หรือมารดาเป็นโรคเหน็บชา) เด็กจะมีอาการร้องเสียงแหบหรือไม่มีเสียง ซึม หอบเหนื่อย ตัวเขียว ขาบวม

บางรายอาจมีอาการตากระตุก (nystagmus) หนังตาตก ชัก หรือหมดสติ

ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา อาจตายได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ในเด็กโตและผู้ใหญ่ ในระยะเริ่มแรก หรืออาการขนาดอ่อน ๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องผูก ท้องอืดเฟ้อ ความจำเสื่อม รู้สึกชา แต่ตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ

ถ้าเป็นมากขึ้น จะรู้สึกชาตามมือและเท้า อาจมีอาการปวดแสบและเสียวเหมือนถูกมดกัด โดยมากจะเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยจะเป็นตะคริว ปวดเจ็บที่กล้ามเนื้อน่อง แขนขาไม่มีแรง ถ้าเป็นมาก ๆ อาจมีอาการเป็นอัมพาต

ในรายที่เกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการตาเหล่ ตาเข (เนื่องจากกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตาเป็นอัมพาต) เดินเซ (ataxia) มีความผิดปกติทางจิต (เช่น ภาวะซึมเศร้า) อาจหมดสติถึงตายได้


ภาวะแทรกซ้อน

กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะหัวใจวาย ความจำเสื่อม ภาวะซึมเศร้า หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ในทารก อาจตรวจพบอาการหอบเหนื่อย ตัวเขียว ขาบวม ตากระตุก หนังตาตก รีเฟล็กซ์ของข้อน้อยกว่าปกติหรือไม่มีเลย และอาจตรวจพบภาวะหัวใจวาย (เช่น ตับโต ชีพจรเต้นมากกว่า 130 ครั้ง/นาที บวม ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ)

ในเด็กโตและผู้ใหญ่ อาจตรวจพบอาการแขนขาชา ไม่มีแรง (ทดสอบโดยให้ผู้ป่วยนั่งยอง ๆ ผู้ป่วยจะลุกขึ้นไม่ได้) หรือเป็นอัมพาต รีเฟล็กซ์ของข้อในระยะแรกอาจไวกว่าปกติ แต่ในระยะหลังอาจน้อยกว่าปกติหรือไม่มีเลย

ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีภาวะหัวใจวายร่วมด้วย เช่น เท้าบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ชีพจรเต้นเร็ว ตับโต ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) เป็นต้น

ถ้าจำเป็น แพทย์จะทำการตรวจระดับวิตามินบี 1 ในเลือด


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ให้วิตามินบี 1 โดยการกินหรือฉีด

2. ในรายที่สงสัยมีภาวะหัวใจวาย จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล ให้ฉีดวิตามินบี 1 ยาขับปัสสาวะ อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่น ๆ ถ้าจำเป็น แล้วให้วิตามินบี 1 และให้การรักษาแบบภาวะหัวใจวาย


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องผูก ท้องอืดเฟ้อ ความจำเสื่อม รู้สึกชาตามมือและเท้า แขนขาไม่มีแรง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เท้าบวม เดินเซ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเหน็บชา ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา 
    ขาดยาหรือยาหาย
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. กินอาหารที่มีวิตามินบี 1 สูง เช่น เนื้อสัตว์ ถั่วต่าง ๆ ไข่แดง ตับ ไต เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีลูกอ่อน คนที่ทำงานหนัก

2. ส่งเสริมให้กินข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้องแทนข้าวขาวที่ขัดสีจากโรงสี เพราะมีวิตามินบี 1 สูง และส่งเสริมการหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ

3. ลดการกินอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 เช่น ชา เมี่ยง หมากพลู สีเสียด ปลาร้า เป็นต้น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรทำปลาร้าให้สุกเสียก่อนเพื่อทำลายสารดังกล่าว หรือให้ดื่มน้ำชา เคี้ยวใบเมี่ยงหรือหมากพลูระหว่างมื้ออาหาร อย่าเสพหลังอาหารทันที

ข้อแนะนำ

1.  โรคนี้อาจพบในชายฉกรรจ์ที่ร่างกายบึกบึน ซึ่งกินข้าวได้มาก ๆ แต่กินอาหารที่มีวิตามินบี 1 น้อย

ดังนั้น ถ้าพบอาการที่ชวนสงสัยว่าเป็นโรคเหน็บชา ควรปรึกษาแพทย์

2.  อาการชาปลายมือปลายเท้า นอกจากเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 (ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อยลงมาก) ยังอาจเกิดจากโรคเบาหวาน ปลายประสาทอักเสบ และสาเหตุอื่น ๆ (ตรวจสาเหตุของอาการชาเพิ่มเติม)

ดังนั้น ผู้ที่มีอาการชาปลายมือปลายเท้า หรือผู้ที่สงสัยเป็นโรคเหน็บชาซึ่งกินยาวิตามินบี 1 แล้วไม่ทุเลา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ