ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) โรคกังวลทั่วไป (Generalized anxie  (อ่าน 19 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 783
  • ขายฟรีสินค้าในไทย,ลงประกาศฟรี,ทุกหมวดหมู่,เวบบอร์ดรองรับ SEO
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) โรคกังวลทั่วไป (Generalized anxiety disorder/GAD)

โรคกังวลทั่วไป จัดเป็นโรควิตกกังวล* ที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีภาวะวิตกกังวลมากเกินกว่าเหตุเกี่ยวกับปัญหาหรือเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันพร้อมกันหลายเรื่อง โดยไม่มีสาเหตุจากการเจ็บป่วยอื่น ๆ หรือจากการใช้ยาหรือสารเสพติด และไม่พบว่าเกิดจากสาเหตุจำเพาะอันใดอันหนึ่ง อาการมักเป็นเรื้อรังนานเกิน 6 เดือน และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย มักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น

พบได้ประมาณร้อยละ 3-8 ของประชากรทั่วไปเมื่อติดตามในช่วง 1 ปี

พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า

* โรควิตกกังวล (anxiety disorders) หมายถึงภาวะวิตกกังวลหรือมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการทางกายและใจ กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โรคกลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็นชนิดย่อยได้หลายชนิด ดังนี้

1. โรคกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder/GAD) ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกังวลมากเกินกว่าเหตุในหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน ร่วมกับอาการผิดปกติทางกายต่าง ๆ อย่างเรื้อรัง โดยไม่มีสาเหตุจากการเจ็บป่วยอื่น ๆ และการใช้ยาหรือสารเสพติด และไม่พบว่าเกิดจากสาเหตุจำเพาะอันใดอันหนึ่ง

2. โรคแพนิก (panic disorder) ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรง โดยไม่มีเหตุกระตุ้นชัดเจน อาการจะเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ แต่กำเริบได้บ่อย (ดู “โรคแพนิก” เพิ่มเติม)

3. โรคกลัว (phobias) ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกกลัวต่อสิ่งหรือสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างมากเกินกว่าเหตุ และไม่กล้าเผชิญกับสิ่งหรือสถานการณ์นั้น ๆ จนกระทบต่อการดำเนินชีวิต อาจมีลักษณะกลัวต่อสิ่งหรือสถานการณ์หนึ่ง ๆ อย่างจำเพาะ (specific phobia) เช่น กลัวสัตว์ต่าง ๆ (สุนัข งู คางคก แมลงสาบ) ที่สูง ที่แคบ ความมืด เชื้อโรค การโดยสารเครื่องบิน การเห็นเลือด การทำฟัน เป็นต้น หรือกลัวการเข้าสังคม (social phobia) เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ การพูดในที่ชุมชน เป็นต้น หรือกลัวการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่หลบออกได้ยากหรือรู้สึกลำบากใจเมื่อเกิดอาการแพนิก (agoraphobia) เช่น การอยู่ในฝูงชน ที่ชุมนุม หรือห้องประชุม เป็นต้น อาการมักเป็นอยู่นานอย่างน้อย 6 เดือน โรคนี้มักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงวัยรุ่น

การรักษา ให้ยาทางจิตประสาทร่วมกับการทำจิตบำบัด และพฤติกรรมบำบัด โดยเฉพาะการให้เผชิญกับสิ่งหรือสถานการณ์ที่ผู้ป่วยกลัว (exposure therapy)

4. โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) ผู้ป่วยจะมีอาการคิดหรือทำอะไรซ้ำ ๆ โดยไม่มีเหตุผล จนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เรื่องที่ย้ำคิดมักเป็นเรื่องไร้สาระ น่ากลัว หรือน่ารังเกียจ เช่น ความสกปรก ความรุนแรง การทำร้ายผู้อื่น อุบัติเหตุ เรื่องเพศ ลืมปิดประตู ลืมปิดไฟ เป็นต้น ส่วนอาการย้ำทำจะมีลักษณะทำอะไรซ้ำ ๆ เช่น ล้างมือ จัดสิ่งของให้เป็นระเบียบ นับสิ่งของ นับจังหวะก้าวที่เดิน ตรวจเช็กกลอนประตูหน้าต่าง สวิตช์ไฟหรือเตาแก๊ส เป็นต้น อาการมักเป็นอยู่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ โรคนี้มักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น การรักษาเช่นเดียวกับโรคกลัว

5. โรควิตกกังวลหลังเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น สงคราม ภัยธรรมชาติ ถูกทำร้ายหรือข่มขืน อุบัติเหตุร้ายแรง เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการหวาดผวาอย่างรุนแรง มีความรู้สึกสิ้นหวัง คิดและฝันซ้ำ ๆ รวมทั้งลืมเหตุการณ์นั้น ๆ ผู้ป่วยมักมีอาการนอนไม่หลับ ตื่นเต้นตกใจง่าย อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิ ความจำแย่ลง บางรายอาจมีประสาทหลอนร่วมด้วย ถ้ามีอาการเกิดขึ้นภายหลังเผชิญเหตุการณ์ภายใน 4 สัปดาห์ และมีอาการอยู่ไม่เกิน 1 เดือน แล้วทุเลาไปเอง เรียกว่า “Acute stress disorder” ซึ่งเป็นภาวะที่เป็นเพียงชั่วคราว แต่ถ้ามีอาการเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน เรียกว่า “Post- traumatic stress disorder” ซึ่งอาจเกิดอาการภายหลังเหตุการณ์ 1 สัปดาห์ หรือหลายปีต่อมา อาการมักเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อถูกกระตุ้นให้คิดถึงเหตุการณ์นั้น ๆ ผู้ป่วยมักจะมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเห็นหรือคิดถึงเหตุการณ์นั้น ๆ การรักษาเช่นเดียวกับโรคกลัว

6. โรควิตกกังวลจากการพลัดพรากจากพ่อแม่หรือคนรัก มักพบกับเด็กอายุ 7-8 ปี ที่ต้องแยกจากพ่อแม่คนที่รักและผูกพันหรือคิดไปล่วงหน้าถึงเรื่องนี้ ทำให้เกิดภาวะวิตกกังวลอย่างรุนแรง ขัดขวางพัฒนาการของเด็กในการเรียนรู้ การเข้าสังคม หน้าที่การงาน ผู้ป่วยจะมีอาการกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อพ่อแม่ (เช่น อุบัติเหตุ ถูกทำร้าย ถูกลักพาตัวไป) และไม่ยอมแยกจากพ่อแม่เวลาเข้านอนหรือไปโรงเรียน อาจมีอาการฝันร้ายเกี่ยวกับการพลัดพราก เมื่อต้องแยกจากพ่อแม่หรือคิดไปล่วงหน้าว่าจะต้องแยกจากกัน เด็กอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง เด็กทีเป็นโรคนี้อาจมีโรควิตกกังวลชนิดอื่น (เช่น โรคกลัว) ร่วมด้วย การรักษาเช่นเดียวกับโรคกลัว

7. โรควิตกกังวลจากโรคทางกาย เช่น ศีรษะได้รับบาดเจ็บ โรคติดเชื้อของสมอง เนื้องอกสมอง โรคของหูชั้นใน โรคหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกิน ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น

8. โรควิตกกังวลจากแอลกอฮอล์ สารเสพติด และยา (เช่น กาเฟอีน แอมเฟตามีน โคเคน เอฟีดรีน ทีโอฟิลลีน ยาลดน้ำหนักบางชนิด ยาแก้ซึมเศร้าบางชนิด) และจากการถอนยากล่อมประสาท

9. โรควิตกกังวลจากความเครียดหรือปัญหาชีวิต เช่น ปัญหาครอบครัว การหย่าร้าง ปัญหาการเงิน ภาวะหนี้สิน ปัญหาการทำงาน หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น ปัญหาสุขภาพหรือการเจ็บป่วย เป็นต้น อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวล ซึ่งจะทุเลาเมื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การรักษา ควรค้นหาสาเหตุและแก้ไข อาจให้ยากล่อมประสาทควบคุมอาการ


สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับปัจจัยด้านชีวภาพร่วมกับปัจจัยด้านจิตใจและสังคม

ปัจจัยทางชีวภาพ เชื่อว่าเกี่ยวกับความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่เรียกว่า สารส่งผ่านประสาท (neurotransmitters) หลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน กรดแกมมาอะมิโนบูไทริก (gamma-aminobutyric acid/GABA) นอกจากนี้ยังเชื่อว่า อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ซึ่งจะพบว่าเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคนี้ มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าเด็กทั่วไป

ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่มีการคาดหวังในความสำเร็จของลูกสูง การมีพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล บุคลิกภาพของผู้ป่วยที่มองโลกในแง่ร้ายและประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาของตนเองต่ำเกินจริง การเผชิญกับความเครียดหรือเหตุการณ์ร้ายแรง เป็นต้น


อาการ

ที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกวิตกกังวลมากเกินกว่าเหตุอยู่เกือบตลอดเวลาแทบทุกวัน ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน โดยวิตกกังวลในปัญหาและเหตุการณ์ทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวันพร้อมกันหลายเรื่องอย่างไร้เหตุผล และยากที่จะควบคุมไม่ให้กังวล เช่น กลัวสามีถูกทำร้าย ห่วงเรื่องการเรียนของลูก กลัวคนในบ้านจะได้รับอุบัติเหตุ กลัวว่าตนเองจะเจ็บป่วย กลัวว่าจะทำงานได้ไม่ดี เป็นต้น ผู้ป่วยจะไม่มีปัญหาร้ายแรงที่ทำให้คิดมากอันใดอันหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ผู้ป่วยมักมีอาการนอนหลับยาก หรือนอนกระสับกระส่ายไม่เต็มที่ อาจรู้สึกอ่อนเพลียเหนื่อยล้าง่าย อยู่ไม่สุข ตื่นเต้น หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ รู้สึกสมองว่างเปล่า คิดไม่ออก กล้ามเนื้อตึงเครียด (ทำให้ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เจ็บหน้าอก ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว) มีอาการมือเท้าสั่น หรือสั่นทั้งตัว บางคนอาจมีอาการใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกมีก้อนจุกคอ เหงื่อออกง่าย มือเย็น ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ ท้องเดิน ปากแห้ง เวียนศีรษะ ร่วมด้วย

อาการมักเป็น ๆ หาย ๆ และจะรุนแรงในช่วงที่มีความเครียด


ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะวิตกกังวลเรื้อรัง อาจทำให้ความสามารถในการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่นลดลง

ผู้ป่วยอาจมีโรคทางจิตประสาทอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคแพนิก โรคกลัว โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคซึมเศร้า ซึ่งเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

ผู้ป่วยยังเสี่ยงต่อการติดแอลกอฮอล์ ติดยา หรือสารเสพติด

บางรายอาจมีโรคทางกายแทรกซ้อน เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น

นอกจากนี้ ความเครียดอาจมีผลต่อภูมิคุ้มกันและการเกิดโรคทางกายต่าง ๆ ได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก

การตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

บางรายอาจพบอาการมือเย็น เหงื่อออก กล้ามเนื้อตึงเครียด มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคกังวลทั่วไป

1. มีความรู้สึกวิตกกังวลมากเกินกว่าเหตุต่อหลาย ๆ เรื่อง (เช่น การเรียน การงาน ครอบครัว สุขภาพ เป็นต้น)
 
2. ผู้ป่วยรู้สึกยากที่จะควบคุมไม่ให้กังวล

3. มีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 3 ใน 6 ข้อ (สำหรับเด็กมีเพียง 1 ใน 6 ข้อ)

    กระสับกระส่ายอยู่ไม่สุข หรือรู้สึกตื่นเต้น
    รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนล้าง่าย
    ไม่มีสมาธิ หรือรู้สึกสมองว่างเปล่าคิดไม่ออก
    หงุดหงิด
    กล้ามเนื้อตึงเครียด (เช่น ปวดศีรษะ ปวดคอ เจ็บหน้าอก ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัว)
    มีปัญหาการนอน (เช่น หลับยาก หรือนอนกระสับกระส่าย)

4. อาการทั้งหมดเป็นอยู่บ่อย ๆ นานกว่า 6 เดือน


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาด้วยยากล่อมประสาท โดยให้ต่อเนื่องนาน 6-12 เดือน จะช่วยลดอาการวิตกกังวลและอาการต่าง ๆ ได้ดี

ถ้ามีอาการใจสั่น มือสั่น แพทย์จะให้โพรพราโนลอล แต่ต้องระวังผลข้างเคียง คือ อาการซึมเศร้า ชีพจรเต้นช้า คลื่นไส้

ถ้ามีภาวะซึมเศร้าหรือโรคแพนิกร่วมด้วยก็ให้การรักษาแบบโรคซึมเศร้า หรือโรคแพนิก

ผลการรักษา มักจะได้ผลดี แต่ต้องกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6-12 เดือน หรือนานกว่านั้น หลังหยุดยาประมาณร้อยละ 60-80 มีโอกาสกำเริบได้อีก


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีความรู้สึกวิตกกังวล  นอนหลับยาก  รู้สึกอ่อนเพลียเหนื่อยล้าง่าย อยู่ไม่สุข ตื่นเต้น หงุดหงิดง่าย หรือ ขาดสมาธิ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรควิตกกังวล ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์  และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน  ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา ( เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน  หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด


การป้องกัน

สำหรับโรคกังวลทั่วไป ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

หากมีอาการ ควรปรึกษาแพทย์และติดตามรักษากับแพทย์เพื่อควบคุมอาการ และอาจป้องกันไม่ให้มีอาการกำเริบมากด้วยการงดการบริโภคสุรา ยาสูบ สารกาเฟอีน (ชา กาแฟ)

ข้อแนะนำ

1. เมื่อพบผู้ป่วยมีภาวะวิตกกังวล แพทย์จะทำการซักถามประวัติและตรวจดูอาการอย่างละเอียด เพื่อแยกแยะสาเหตุ บางครั้งอาจเกิดจากโรคทางกาย แอลกอฮอล์ สารเสพติด ยา ความเครียดหรือปัญหาชีวิต หรืออาจมีโรคจิตประสาทอื่น ๆ (เช่น โรคซึมเศร้า โรคแพนิก โรคกลัว โรคย้ำคิดย้ำทำ) ร่วมด้วย ซึ่งมีวิธีการดูแลรักษาแตกต่างกันไป

2. โรคกังวลทั่วไป มักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ซึ่งแพทย์จะให้ยารักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 6-12 เดือน และแนะนำผู้ป่วย ดังนี้

    ให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่า โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถควบคุมอาการด้วยยาที่ใช้รักษาจนสามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้ และควรให้กำลังใจว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ป่วย แต่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง
    พบแพทย์เป็นประจำตามนัด และกินยาอย่างต่อเนื่อง อย่าปรับยาหรือหยุดยาเอง
    ดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำสมาธิ ฝึกโยคะ
    หลีกเลี่ยงการเสพแอลกอฮอล์ สารเสพติด สารกระตุ้น กาเฟอีน ซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลงได้
    เมื่อมีภาวะเครียด ควรหาทางพูดคุยระบายกับญาติหรือเพื่อนสนิท